จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ

การศึกษาวิจัยด้านมนุษย์และสัตว์ทดลองทั้งหมดจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยของสถาบัน (Institutional Review Board; IRB) การทดลองทางคลินิกจะต้องลงทะเบียนในการลงทะเบียนสาธารณะก่อนที่จะเริ่มทำการวิจัย โดยวารสารยอมรับการลงทะเบียนสาธารณะตามนโยบายการลงทะเบียนทดลองทางคลินิก (clinical trial registration policy) ตามคณะกรรมการระหว่างประเทศของบรรณาธิการวารสารการแพทย์ (International Committee of Medical Journal Editors; ICMJE) และการวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต้องปฏิบัติตามปฏิญญาเฮลซิงกิ https://www.wma.net/en/20activities/10ethics/10helsinki/

ผู้เขียนควรตรวจสอบต้นฉบับก่อนส่งตีพิมพ์ในวารสารเพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนใดของต้นฉบับที่คัดลอกมาจากแหล่งอื่นๆ และผู้รับผิดชอบบทความ (corresponding author) จะต้องกรอกแบบฟอร์มวารสารเพื่อเปิดเผยความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นและส่งแบบฟอร์มในนามของผู้เขียนร่วมทั้งหมดเพื่อให้วารสารเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่งานวิจัยที่ถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ วารสารจึงกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่ดีและจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Author) บรรณาธิการ (Editor) และผู้ประเมินบทความ (Reviewer) ตาม Committee on Publication Ethics (COPE) ดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of authors)
1. ผู้นิพนธ์ต้องส่งผลงานที่เป็นผลงานใหม่ ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่บิดเบือนข้อมูล
2. หากมีการอ้างอิงผลงานผู้อื่น ผู้นิพนธ์จะต้องรวบรวมและให้การอ้างอิงท้ายบทความ
3. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้ส่งบทความลงตีพิมพ์
4. ชื่อผู้นิพนธ์ในบทความทุกคน ต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยจริง
5. หากมีแหล่งทุนที่สนับสนุนงานวิจัย หรือผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ผู้นิพนธ์ต้องระบุไว้อย่างชัดเจน

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of editors)
1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ และการตัดสินใจคัดเลือกบทความเพื่อตีพิมพ์ หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
2. บรรณาธิการวารสารต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความ
3. บรรณาธิการวารสารต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่ทำการประเมินบทความ
4. บรรณาธิการวารสารต้องตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (plagiarism) โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ หากพบการคัดลอกผลงาน ต้องหยุดกระบวนการประเมินบทความ และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันที เพื่อพิจารณาคำชี้แจงประกอบการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of reviewers)
1. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์
2. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลทุกส่วนของบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาที่ทำการประเมินบทความ
3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในเรื่องที่ตนมีความเชี่ยวชาญ พิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความ คุณภาพ และความเข้มข้นของผลงาน โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว หรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการรองรับมาตัดสินบทความวิจัย
4. หากมีข้อมูลสำคัญที่ผู้นิพนธ์ไม่ได้กล่าวถึงในผลงานวิจัย ผู้ประเมินต้องแจ้งให้ผู้นิพนธ์ทราบในการประเมินบทความ ในขณะเดียวกันหากพบว่าบทความมีการคัดลอกผลงานจากบทความอื่น ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที