จริยธรรมของวารสารเภสัชศาสตร์อีสาน (IJPS)

จริยธรรมของผู้นิพนธ์ (Author)
1. ผู้นิพนธ์ต้องส่งต้นฉบับที่เป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนและไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ตีพิมพ์ในวารสารอื่น
2. ผู้นิพนธ์ต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง มีรายละเอียดและการอ้างอิงที่เหมาะสม และมีการแปรผลที่ถูกต้อง ปราศจากอคติ
3. ผู้นิพนธ์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในงานวิจัยหรือมีส่วนร่วมในการเตรียมต้นฉบับบทความที่ขอรับการพิจารณา
4. ผู้นิพนธ์ต้องระวังการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นรวมถึงการลอกเลียนผลงานตนเอง การอ้างอิงเนื้อหา รูปภาพหรือตำรางจากผลงานอื่นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
5. ต้นฉบับที่ขอรับการพิจารณาต้องเขียนให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
6. งานวิจัยที่มีการศึกษาในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ต้องมีหนังสือรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง
7. ผู้นิพนธ์ควรระบุแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนการทำวิจัยและควรระบุผลประโยชน์ทับซ้อน
8. ผู้นิพนธ์ต้นฉบับที่ขอรับการพิจารณาหรือบทความตีพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายเดียวเมื่อเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์และอาจมีการเพิกถอนบทความที่เผยแพร่

จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ (Reviewer)
1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และห้ามติดต่อผู้นิพนธ์โดยตรง ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากกองบรรณาธิการ
2. ผู้ประเมินบทความควรปฏิบัติตามนโยบายของวารสารและประเมินต้นฉบับอย่างมีวิจารณญาณโดยปราศจากอคติส่วนตัวใด ๆ รวมถึงส่งผลการประเมินพร้อมข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยส่งผลประเมินตรงเวลาที่วารสารกำหนด
3. ผู้ประเมินบทความควรรายงานต่อบรรณาธิการเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของงานวิจัย ปัญหาที่ผิดจรรยาบรรณหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในต้นฉบับ
4. ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง โดยไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้นิพนธ์ ข้อมูลหรือแนวคิดของต้นฉบับจะต้องเก็บเป็นความลับและไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

จริยธรรมของบรรณาธิการ (Editor)
1. บรรณาธิการต้องกำกับติดตามดูแลให้การประเมินบทความดำเนินการอย่างยุติธรรม ไม่อคติและตรงตามเวลา
2. บรรณาธิการต้องคัดเลือกผู้ประเมินบทความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของบทความที่รับประเมินอย่างแท้จริง
3. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ ซึ่งวารสารได้กำหนดในลักษณะปกปิดรายชื่อ (Double blind peer-reviewed)
4. บรรณาธิการมีอำนาจในการตอบรับ ปฏิเสธหรือร้องขอให้แก้ไขบทความต้นฉบับ เพื่อให้มีการเผยแพร่บทความที่มีคุณภาพ
5. บรรณาธิการต้องให้คำแนะนำหรือข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวารสาร แก่ผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความ อาทิ นโยบายของวารสาร จริยธรรม/จรรยาบรรณ ของผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ แนวทางการเขียนบทความสำหรับผู้นิพนธ์ แบบฟอร์มการประเมินสำหรับผู้ประเมินบทความ เป็นต้น