The Coorperation Project of the Development and Establish of Curicurum of Master Degree in Clinical Pharmacy in Module System by Faculty of Pharmaceutical Sciences, Khon Kaen University, Chiangmai University, Silpakorn University and Prince of Songkla University and Bureau of Health Service System Development, Department of Health Service Support, Ministry of Public Health

Main Article Content

Kitti Pitaknitinun
Patanong Jongsirilerd

Abstract

โครงการความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge management) ซึ่งเป็นนวัตกรรมของความร่วมมือระหว่างส่วนราชการหลายส่วนราชการในการพัฒนางานเภสัชกรรมโรงพยาบาลและการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิก เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของเภสัชกรให้สามารถมีบทบาทที่สูงขึ้นในการดูแลปัญหาด้านยาของผู้ป่วย โดยมีกรอบแนวคิดการพัฒนาและการจัดการ ดังนี้
1. เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยภูมิภาค 4 แห่ง ในการร่วมพัฒนาบทบาทเภสัชกรโรงพยาบาลจากอดีตที่เน้นเฉพาะด้านผลิตภัณฑ์ ไปสู่บทบาทที่มุ่งเน้นในการดูและปัญหาด้านยาของผู้ป่วยมากขึ้น ที่เรียกว่า งานเภสัชกรรมคลินิก ซึ่งได้มีการพัฒนาต่อเนื่องมาสู่การบริบาลทางเภสัชกรรมในปัจจุบัน
2. ร่วมจัดหลักสูตรการประชุมอบรมโดยเน้นการจัดในระบบชุดวิชา (module system) ในลักษณะการประชุมอบรมระยะสั้น (40 ชั่วโมง) ซึ่งเทียบได้กับ 1 รายวิชา เพื่อให้การเข้าประชุมอบรมทางวิชาการของเภสัชกรในแต่ละโรงพยาบาลในแต่ละปีไม่สูญเปล่า โดยสามารถเก็บสะสมรวมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาโทต่อได้ หากมีความสนใจ หรืออาจเป็นเพียงการเข้าเพิ่มพูนความรู้เฉพาะคราว
3. คณะเภสัชศาสตร์ ทั้ง 4 แห่งที่ร่วมโครงการ ร่วมกันจัดการประชุมอบรมตามความชำนาญของแต่ละคณะ รวมประมาณ 10-15 การประชุม (รายวิชา) ในแต่ละปี โดยสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (กองโรงพยาบาลภูมิภาคเดิม) จะรับผิดชอบประชาสัมพันธ์การประชุมให้โรงพยาบาลทุกแห่งทราบตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้เภสัชกรแต่ละโรงพยาบาลสามารถวางแผนสมัครเข้าร่วมการประชุมอบรมล่วงหน้าในแต่ละปีได้
4. ผู้สนใจเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท ต้องส่งการบ้าน และขอสอบเก็บคะแนนในวิชาดังกล่าวไว้หลังการประชุมอบรม การเข้าร่วมประชุมอบรมในแต่ละครั้งจะสามารถเก็บสะสมผลไว้ได้ 3 ปี และเมื่อเริ่มลงทะเบียนเรียน ณ มหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งที่ร่วมโครงการ ผลการสอบในวิชาที่ได้เข้าประชุมอบรมในสถาบันอื่น ๆ จะถูกส่งมาเพื่อเทียบโอนหน่วยกิตให้ในมหาวิทยาลัยที่ได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษา และในระหว่างการศึกษารายวิชาไม่ต้องลาศึกษาเต็มเวลา เนื่องจากการเรียนในรายวิชาเป็นเหมือนการเข้าร่วมประชุมอบรมวิชาการปกติ ทำให้โรงพยาบาลไม่เกิดการขาดแคลนบุคลากรเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากจะเหมือนการลาไปประชุมอบรมตามปกติของเจ้าหน้าที่ทั่วไป
5. การจัดทำวิทยานิพนธ์ จะเน้นให้ทำในเรื่องที่เป็นลักษณะการสร้างงานใหม่ในโรงพยาบาลของตนเอง เป็นหลักเพื่อให้การศึกษาเกิดผลต่อการพัฒนางานของโรงพยาบาลที่ชัดเจนควบคู่ไปด้วย
6. หลักสูตรกำหนดให้มีการฝึกปฏิบัติงาน 6-8 clerkships (clerkships ละ 1 เดือน) โดยการฝึกปฏิบัติเป็นการฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลต่าง ๆ (ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาให้มีกิจกรรมที่ได้มาตรฐาน) ที่มีการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดี และหากโรงพยาบาลที่สังกัดมีกิจกรรมปฏิบัติที่ดีในเรื่องใด ที่คณะกรรมการร่วมหลักสูตรรับรอง ก็สามารถอยู่ปฏิบัติที่โรงพยาบาลได้เลย
7. สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพและคณะเภสัชศาสตร์ทั้ง 4 สถาบัน ร่วมมือกันสนับสนุนและพัฒนางานเภสัชกรรมคลินิกของโรงพยาบาลเป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติมาตรฐานทางด้านเภสัชกรรมคลินิก ซึ่งเป็นการพัฒนาบทบาทเภสัชกรโรงพยาบาลควบคู่ไปด้วย

Article Details

Section
Pharmacy

References

-