Journal Information
Publication Ethics
ข้อกำหนดจริยธรรมการตีพิมพ์บทความวิจัยและบทความวิชาการลงในวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
นโยบายและการดำเนินการด้านจริยธรรมการวิจัยของวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- หัวหน้ากองบรรณาธิการ/ บรรณาธิการ (editor-in-chief) ต้องไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยหรือบทความวิชาการในวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะเป็นการทำให้เกิดผลประโยชน์หรือความขัดแย้งในประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest: COI)
- บทความวิชาการหรือบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะได้รับการตรวจสอบการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน (duplications/ plagiarism) ก่อนการตีพิมพ์โดยระบบวารสารออนไลน์ ดังนี้
1. กรณีตรวจพบการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนตั้งแต่กระบวนการส่งบทความเข้ามาในระบบวารสารออนไลน์ (online submission) บรรณาธิการสามารถตอบปฏิเสธอการรับบทความเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรก
2. กรณีตรวจพบการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนในขั้นตอนการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer reviews) กองบรรณาธิการมีมติปฏิเสธการตีพิมพ์ กองบรรณาธิการจะแจ้งปฏิเสธการตีพิมพ์ พร้อมเหตุผลแก่ผู้นิพนธ์ และจะไม่ให้สิทธิ์การอุทธรณ์แก่ผู้นิพนธ์ เพราะถือว่ามีเจตนาตีพิมพ์ซ้ำซ้อน
- รายการการอ้างอิงที่นำมาอ้างอิงในบทความวิจัยหรือบทความวิชาการ ต้องไม่เก่าเกินกว่า 10 ปี ยกเว้นในกรณีที่เป็นทฤษฎีในระดับมหภาพหรือทฤษฎีขนาดใหญ่ (grand theory) เช่น ทฤษฎีทางสังคม ทฤษฎีทางจิตวิทยา ทฤษทางการพยาบาล หรือเป็นทฤษฎีที่รู้จักในศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ตามความเหมาะสม เช่น Orem’s Nursing Theory เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องอ้างอิงให้ถูกต้องตามแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (primary source) ไม่ใช้แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (secondary source) หรือ แหล่งข้อมูลตติยภูมิ (tertiary source) เพราะอาจมีการอ้างอิงผิดหรือไม่สอดคล้องหรือไม่ถูกต้องตามที่มีปรากฎจริงในเนื้อหาของแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
- ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์เป็นไปตามกำหนดของวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ หากผู้ทรงวุฒิ (peer reviews) ได้อ่านและพิจารณาบทความที่ส่งมาแล้ว เห็นสมควรให้เพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ จะไม่มีการบวกเงินเพิ่มจากจำนวนหน้าที่เกินจากที่กำหนด (no page charge)
- หากตรวจพบว่า ผู้นิพนธ์กระทำผิดด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณนักวิจัยหรือนักวิชาการ เช่น ไปคัดลอกงานผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง หรือ ทำการอ้างอิงงานของตนเอง (self-citation) โดยไม่จำเป็น หรือไม่มีการปรับรูปแบบการเขียน ผู้นิพนธ์ จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของนักวิจัยและนักวิชาการ
- กองบรรณาธิการจะไม่รับพิจารณาบทความวิจัยที่ไม่ได้แบ่งเป็นระยะของโครงการวิจัยขนาดใหญ่อย่างชัดเจน และเมื่อกองบรรณาธิการตรวจพบการกระทำในลักษณะดังกล่าว จะถอดถอนการตีพิมพ์บทความวิจัยได้ในทันทีที่ทราบข้อเท็จจริง
บทบาทและหน้าที่ของหัวหน้ากองบรรณาธิการ/บรรณาธิการ (Duties of Editor-in-Chief)
วารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้ากองบรรณาธิการ/บรรณาธิการ โดยบรรณาธิการ/บรรณาธิการ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องด้านรูปแบบและเนื้อหาของบทความวิจัย/บทความวิชาการอยู่ภายใต้ขอบเขตของวารสาร และทำการปรับปรุงวารสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ ตลอดจนสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คงไว้ซึ่งความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ ไม่กระทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ ปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาจากความต้องการทางธุรกิจ เต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดการตีพิมพ์ การทำให้เกิดความกระจ่าง การปฏิเสธหรือถอดถอนบทความ และการขอโทษผู้เกี่ยวข้อง
ส่วนหน้าที่ของบรรณาธิการต่อผู้นิพนธ์ บรรณาธิการมีการดำเนินการให้บทความวิจัยหรือบทความวิชาการได้รับการตรวจสอบคุณภาพของบทความที่ส่งมาขอรับการตีพิมพ์ โดยการตรวจสอบเนื้อหาว่ามีความสอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสาร และผ่านผู้ทรงคุณวุฒิ (reviewers) ในการพิจารณาความเหมาะสมและความถูกต้องในการตีพิมพ์อย่างน้อย 3 คน มีการชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความวิจัยและบทความวิชาการ โดยมีการสรุปข้อเสนอแนะและประเด็นการแก้ไขจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ก่อนส่งให้ผู้นิพนธ์ ซึ่งผู้นิพนธ์สามารถสอบถามข้อสงสัยและเสนอความคิดเห็นในระบบวารสารออนไลน์ หรือสามารถ e-mail รวมทั้งสามารถโทรศัพท์ หรือส่งข้อความทางไลน์แอปพลิเคชันมาสอบถามบรรณาธิการได้ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้
บรรณาธิการจะไม่กลับคำตัดสินใจการปฏิเสธหรือตอบรับการตีพิมพ์บทความที่บรรณาธิการปัจจุบันหรือคนก่อนตอบปฏิเสธหรือตอบรับไปแล้ว ยกเว้นมีการพิสูจน์ได้จริงว่ามีปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น หากยังคงยึดตามการตัดสินตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์
บรรณาธิการจัดพิมพ์คำแนะนำแก่ผู้ประเมินบทความ และมีการปรับปรุงคำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ และมีระบบที่ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ประเมิน ซึ่งการส่งบทความวิจัยหรือบทความวิชาการไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินจะมีการลบชื่อผู้นิพนธ์ออกจากบทความ และเมื่อผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขกลับมาแล้ว กองบรรณาธิการจะทำการลบชื่อผู้ประเมินออกจากใบสรุปผลการประเมิน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง (double-blind review) ที่ผู้นิพนธ์ไม่รู้ว่าผู้ประเมินเป็นใคร และผู้ประเมินไม่รู้ว่าผู้นิพนธ์เป็นใคร จะได้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest: COI) แล้วสรุปข้อเสนอแนะของผู้ทรงวุฒิทั้ง 3 ท่าน เป็นหนึ่งฉบับ ภายใต้การดูแลของบรรณาธิการ ซึ่งอาจจะมีการเสนอประเด็นเพิ่มเติม
บรรณาธิการเป็นผู้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความวิจัยและบทความวิชาการตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนั้น ๆ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในเนื้อหา 2 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญในด้านสถิติหรือวิธีวิทยาการวิจัย 1 ท่าน หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในเนื้อหานั้น ๆ ทั้ง 3 ท่าน ตามความเหมาะสมของการพิจารณาความถูกต้อง
กรณีที่ผู้นิพนธ์เป็นบุคคลภายนอก ผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความวิจัยและบทความวิชาการอาจจะเป็นบุคคลภายในหรือบุคคลภายนอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผู้นิพนธ์ โดยพิจารณาตามความเชี่ยวชาญ
บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาคุณภาพบทความวิจัย/บทความวิชาการ (Duties of Reviewers)
1. ผู้ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัยต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาพิจารณาแก่บุคคลอื่น
2. ผู้ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัย ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งคำนึงถึงคุณภาพของงาน ความเข้มข้นของเนื้อหา ความถูกต้องในเชิงวิธีวิทยาการวิจัย และให้ความสำคัญกับข้อค้นพบในบทความวิชาการ/บทความวิจัยที่จะมีประโยชน์ต่อสาขาวิชานั้น
3. ในกรณีที่ผู้ที่ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัยตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ (conflict of interest) หลังได้รับมอบหมายบทความวิชาการ/บทความวิจัยจากบรรณาธิการ เช่น เป็นกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิชาการ/ บทความวิจัย/ บทความวิชาการของผู้เขียน หรือเป็นผู้ร่วมโครงการ/อนุมัติโครงการ หรือรู้จักกับผู้เขียนเป็นการส่วนตัว หรือมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาบทความวิชาการ/บทความวิจัยได้อย่างอิสระ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัยในระบบ
4. ผู้ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัยต้องมีการตรวจสอบว่ามีส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความวิชาการ/บทความวิจัยที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น แล้วแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
5. ผู้ประเมินบทความวิชาการ/บทความวิจัยควรให้ข้อเสนอแนะที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยระบุแหล่งข้อมูลสำคัญ หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบทความที่กำลังประเมิน
บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
1. ผู้นิพนธ์ต้องจัดทำบทความวิจัย/บทความวิชาการขึ้นมาใหม่ โดยต้องไม่เคยลงตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน หรืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นใด
2. ผู้นิพน์ต้องใส่ชื่อ-นามสกุล สังกัด ที่อยู่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งระบุอีเมลของผู้นิพนธ์ครบทุกคนในหน้าบทคัดย่อ อีกทั้งให้ระบุชื่อและอีเมลของผู้นิพนธ์หลัก หรือผู้ประพันธ์หลัก หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ(corresponding author) มาด้วย และใส่ข้อมูลทั้งหมดในเอกสารแบบบันทึกข้อมูลผู้นิพนธ์ที่อยู่หน้าเว็บไซต์วารสาร
3. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบทความวิจัย/บทความวิชาการ ต้องมีส่วนร่วมในงานทุกคน หากพบว่ามีการเพิ่มชื่อผู้นิพนธ์ในภายหลัง ต้องมีการทำหนังสือแสดงหลักฐานการเพิ่มชื่อ (กรณีลืมเติมชื่อผู้นิพนธ์) และต้องให้ผู้บริหาร/หัวหน้าหน่วยงานเซ็นรับรองการเพิ่มรายชื่อดังกล่าวให้ถูกต้อง แต่ถ้าตรวจพบว่ามีการเพิ่มชื่ออย่างผิดปกติ บทความของผู้นิพนธ์จะถูกถอนจากวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยทันที และท่านจะถูก Blacklist เพราะถือว่าทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณของนักวิจัย
4. (ถ้ามี) แหล่งทุนในบทความวิจัยต้องระบุชื่อแหล่งทุนและที่อยู่ของแหล่งที่สนับสนุนการวิจัยอย่างครบถ้วน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
5. (ถ้ามี) ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในผลงาน ผู้นิพนธ์ต้องอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างชัดเจน
6. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัย/บทความวิชาการตามรูปแบบที่วารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพกำหนดไว้เท่านั้น
7. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนอ้างอิงในเนื้อหาและท้ายบทความอย่างถูกต้องและครบถ้วน เมื่อนำข้อมูลของผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นมากล่าวอ้าง
8. ผู้นิพนธ์ต้องปรับหรือแก้ไขบทความวิจัย/บทความวิชาการ ตามผลการประเมินและข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิและบรรณาธิการ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเกิดความล่าช้าด้วยเหตุจำเป็นขอให้ท่านติดต่อกองบรรณาธิการได้ที่เบอร์ 02-207-6083 หรือ 089-009-4538 หรือ 098-915-4519
9. ผู้นิพนธ์ต้องยอมรับการตัดสินของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด
10. เมื่อผู้นิพนธ์ได้แก้ไขบทความวิจัย/บทความวิชาการแล้ว และได้รับอีเมลตอบรับการลงตีพิมพ์ ให้ท่านดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ตามที่กองบรรณาธิการประกาศแจ้งไว้ที่หน้าเว็บวารสาร
11. ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบความถูกต้อง สมบูรณ์ ของบทความวิจัย/บทความวิชาการฉบับสุดท้ายที่บรรณาธิการและกองบรรณาธิการได้จัดรูปแบบและตรวจสอบเนื้อหาหลังแก้ไขแล้ว ก่อนเผยแพร่ในระบบวารสารออนไลน์ของวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
การร้องเรียน
บรรณาธิการจะรับข้อร้องเรียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร และแจ้งกลับแก่ผู้ร้องเรียน กองบรรณาธิการจะพิจารณาตามกระบวนการภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับข้อร้องเรียน และจะแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบ หากข้อร้องเรียนดังกล่าวไม่ได้รับการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ร้องเรียนสามารถยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลตำรวจ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลตำรวจกำหนด
การขอหลักฐานแสดงการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณาการวิจัย
บรรณาธิการวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพสามารถร้องขอให้ผู้นิพนธ์ ส่งเอกสารการขออนุมัติจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB) จากคณะกรรมการทางจริยธรรมในงานของผู้นิพนธ์ เพื่อยืนยันความถูกต้องตามหลักจริยธรรมอันเป็นการคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
การตีพิมพ์ข้อเสนอแนะจากผู้อ่าน
บรรณาธิการวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพยินดีที่จะตีพิมพ์ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้อ่านในวารสารพยาบาลตำรวจและวิทยาศาสตร์สุขภาพ