Quality of Life, Mental Health Status and Activities of Daily Living of the Elderly : Case Study Muang District, Ubon Ratchathani Province
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อายุที่ยืนยาวขึ้นไม่ใช่สิ่งแสดงว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวาง มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิต ภาวะสุขภาพจิตและความสามารถช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุในเขตเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง
โดยใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอนจากชุมชนและชมรมผู้สูงอายุทั้งหมด 26 แห่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 412 คน เครื่องมือที่ใช้สอบถามคุณภาพชีวิตได้แปลและพัฒนาจากแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก (WHOQOL-BREF) เป็นแบบวัดคุณภาพชีวิตฉบับย่อ 26 ข้อ ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ
แบบวัดความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง (ADL) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้านความเชื่อมั่นครอนบาค แอลฟา 0.81, 0.87 , 0.85 ตามลำดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 59.50 เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า คุณภาพชีวิตระดับดี ได้แก่ ด้านจิตใจมีค่าสูงสุดร้อยละ 40.50 รองลงมา คือ ด้านสิ่งแวดล้อมร้อยละ 40.25 ภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุนั้นพบว่า ผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพจิตดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานคนปกติ ร้อยละ 61 สุขภาพจิตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมีเพียง
ร้อยละ 5.80 ส่วนความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุเป็นกลุ่มติดสังคม ร้อยละ 97.90 โดยมีกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงเท่ากัน ร้อยละ 1.05 ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนดูแลภาวะสุขภาพด้านการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และสัมพันธภาพทางสังคมของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้