ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข การลดน้ำหนักของ นักศึกษาพยาบาลที่มีภาวะอ้วน คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงผสมผสาน (mixed methods research) แบบแผนเชิงอธิบาย (Explanatory Sequential Design) วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจดัชนีมวลกายของนักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ทำการศึกษาปัญหาอุปสรรคการลดน้ำหนักของนักศึกษาพยาบาลที่มีภาวะอ้วน และแนวทางการแก้ไขการลดน้ำหนัก ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกวิธีวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปี 1- 4 หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ ปีการศึกษา 2557 จำนวน 804 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวัดประเมินน้ำหนัก -ส่วนสูง สูตรคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index Formular) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ค่าความถี่ และร้อยละ แบ่งตามเกณฑ์ภาวะโภชนาการและค่าดัชนีมวลกาย
ของประเทศทางแถบเอเชีย และตามระดับชั้นปี ระยะสอง คือ วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นนักศึกษาพยาบาลที่มีภาวะอ้วน (BMI ≥ 25 Kg/M²) จำนวน 15 ราย ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) และอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) การบันทึกเทปเสียง (audiotape recording) ใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง (structural in-depth interview) แบบบันทึกข้อมูลภาคสนาม (Field note) และแบบบันทึกข้อมูลส่วนตัว (personal data sheet) นำข้อมูลจากการถอดเทปบทสนทนาแบบคำต่อคำ มาวิเคราะห์แยกประเด็น (thematic analysis)
ตามวิธีของ Leonard ผลการศึกษา พบว่า นักศึกษาพยาบาลมีน้ำหนักน้อยผิดปกติร้อยละ 0.62น้ำหนักปกติร้อยละ 92.29 น้ำหนักเกินร้อยละ 2.74 และมีภาวะอ้วนร้อยละ 4.35 และพบปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคของนักศึกษาพยาบาลที่มีภาวะอ้วน 3 ประเด็น คือ 1) ปัจจัยนำ ประกอบด้วย อุปนิสัยคนอ้วน (ขี้เสียดาย ขี้เกรงใจ ขี้เกียจ ชอบทำตามใจตนเอง และชอบแก้ตัว) ทัศนคติทางบวกต่ออาหาร ขาดการควบคุมตนเอง ขาดแรงจูงใจ และจัดการกับความเครียดไม่เหมาะสม 2) ปัจจัยกระตุ้น ประกอบด้วย ลักษณะเฉพาะของวิชาชีพพยาบาล นโยบายการบริหารเน้นวิชาการ 3) ปัจจัยเสริม ประกอบด้วย ขาดระบบบริการส่งเสริมสุขภาพ และรักสนับสนุนของครอบครัวทางลบ ส่วนแนวทางแก้ไขการลดน้ำหนักพบ 1 ประเด็น คือ ปัจจัยเอื้อ ประกอบด้วย การได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากสถาบัน การได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และการได้รับการ
สนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว การศึกษานี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยปัญหาอุปสรรคในการลดน้ำหนักเพิ่มขึ้น นำไปพัฒนาการจัดโปรแกรมการ ลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นแนวทางให้วัยรุ่นที่มีภาวะอ้วน นำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ให้มีสุขภาวะที่ดีต่อไป