Ethics and CI Policy
การพิจารณาเชิงจริยธรรมสำหรับการตีพิมพ์ (Publication Ethics)
การพิจารณาเชิงจริยธรรมสำหรับการตีพิมพ์สำหรับผู้ประพันธ์ ผู้พิจารณาบทความ และบรรณาธิการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้คุณภาพของบทความและงานวิจัยใน Journal of Thai Association of Radiation Oncology ได้มาตรฐาน ดังรายละเอียดดังนี้
สิทธิมนุษยชนและสิทธิสัตว์ (Human and animal rights)
Journal of Thai Association of Radiation Oncology มีแนวทางปฏิบัติตามปฏิญาณเฮลซิงกิ (Declaration of Helsinki 2008) อย่างเคร่งครัด หากงานวิจัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในมนุษย์ ผู้ประพันธ์ต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานวิจัยสอดคล้องไปกับปฏิญาณเฮลซิงกิ และควรระบุในบทประพันธ์ส่วนวัสดุและวิธีการ (materials and methods) ว่าผู้เข้าร่วมงานวิจัยแสดงเจตนายินยอมเข้าร่วมการวิจัยโดยเต็มใจและได้รับการบอกกล่าว (inform consent) เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงต้องไม่เปิดเผยชื่อผู้เข้าร่วมวิจัย และรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมวิจัย
ทุกการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในมนุษย์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 จำเป็นต้องได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมงานวิจัย (Institutional Review Board, IRB) สำหรับงานวิจัยก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่ไม่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมงานวิจัย ผู้ประพันธ์จำเป็นต้องอธิบายให้บรรณาธิการ Journal of Thai Association of Radiation Oncology ทราบและเข้าใจว่างานวิจัยดังกล่าวไม่มีการล่วงละเมิดทางสิทธิและจริยธรรมกับผู้เข้าร่วมงานวิจัย
การวิจัยในสัตว์ ต้องได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการผู้รับผิดชอบในเรื่องการดูแลและการปฏิบัติต่อสัตว์ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยให้ระบุไว้ในส่วนของวัสดุและวิธีการ (materials and methods)
จริยธรรมของผู้ประพันธ์ (Ethics of Authors)
บทความหรืองานวิจัยต้นแบบ (Originality): บทความ หรืองานวิจัย ที่ส่งเพื่อให้บรรณาธิการพิจารณาตีพิมพ์ ต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อน (ยกเว้นการตีพิมพ์ในรูปแบบงานวิทยานิพนธ์ หรือ บทคัดย่อ) รวมถึงต้องไม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ลงหนังสือหรือวารสารฉบับอื่นๆ ผู้ประพันธ์ต้องไม่คัดลอกบทความ หรือเนื้อหาจากผลงานวิจัยอื่น รวมถึงไม่คัดลอกจากบทความหรือผลงานวิจัยของตนเอง และข้อมูลทั้งหมดในบทความ ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ได้จากงานวิจัยของผู้ประพันธ์ ไม่พบการปลอมแปลงข้อมูล หากมีการกล่าวอ้างถึงผลงานของผู้อื่น จำเป็นต้องมีการระบุและอ้างอิงถึงผลงานเหล่านั้น รวมถึงระบุในเอกสารอ้างอิง Journal of Thai Association of Radiation Oncology มีสิทธิใช้โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในทุกบทความ หรืองานวิจัยที่ส่งตีพิมพ์ หากกองบรรณาธิการพบว่าอาจมีการคัดลอก หรือการปลอมแปลงข้อมูลเกิดขึ้น ทางวารสารจะทำการตรวจสอบ และปฏิเสธการพิจารณาตีพิมพ์หากพิสูจน์แล้วพบว่าผู้ประพันธ์ได้กระทำดังกล่าวจริง
บทบาทผู้ประพันธ์ (Authorship): ผู้ประพันธ์ทุกท่านต้องมีส่วนร่วมในการประพันธ์บทความ หรืองานวิจัย และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัย โดยควรมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในหน้าแรก (title page) สำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยรองลงมา สามารถระบุชื่อไว้ในส่วนกิตติกรรมประกาศ (acknowledgements) ในตอนท้ายของต้นฉบับ
ความถูกต้อง: ผู้ประพันธ์ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ผลงานวิจัย รวมถึงวัตถุประสงค์ และการอภิปรายประเด็นสำคัญ และต้องปราศจากการปลอมแปลง บิดเบือดข้อมูล บทสรุปของบทความหรืองานวิจัยต้องอ้างอิงจากหลักฐานที่สามารถพิสูจน์และประจักษ์ได้ ไม่ใช่ความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว
ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of interest): ผู้ประพันธ์จำเป็นต้องเปิดเผยและระบุทุกการสนับสนุนทางการเงิน และผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมสำหรับการดำเนินงานวิจัย ขั้นตอนการเขียนงานวิจัย หรือบทความ ตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนที่จำเป็นต้องเปิดเผย ได้แก่ การว่าจ้าง การถือหุ้น ได้รับค่าธรรมเนียมการบริการ การจดสิทธิบัตร การได้รับผลประโยชน์ทางการเงินด้านอื่นๆ ความสัมพันธ์กับองค์กรที่อาจมีอิทธิพลต่อผลงานวิจัยหรือการประพันธ์บทความ เป็นต้น โดยให้ระบุผลประโยชน์ทับซ้อน ต่อท้ายในบทความ (หลังข้อสรุป) ผู้ประพันธ์หลักสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ที่หน้าต่าง submissions ลิงก์ “CONSENT OF AUTHORSHIP AND DISCLOSURE OF POTENTIAL CONFLICT OF INTEREST” และแนบร่วมกับการส่งบทความสำหรับตีพิมพ์
จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Ethics of Reviewers)
การรักษาความลับ (Confidentiality): ผู้ประเมินบทความควรเคารพการรักษาความลับของขั้นตอนการประเมินอย่างเคร่งครัด ผู้ประเมินไม่ควรนำเนื้อหาในบทความหรืองานวิจัยไปเผยแพร่หรือปรึกษากับผู้วิจัยอื่น ผู้ประเมินไม่สามารถนำข้อมูลเนื้อหาในงานวิจัยหรือบทความไปอ้างอิงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประพันธ์ หากบทความหรืองานวิจัยนั้นยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ โดยการขออนุญาตนี้ต้องกระทำผ่านบรรณาธิการเท่านั้น ข้อมูลหรือแนวคิดต่างๆที่ได้จากการประเมินบทความต้องเก็บเป็นความลับ และไม่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน
ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of interest): หากภายหลังได้รับมอบหมายบทความ ผู้ประเมินตระหนักได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยหรือบทความดังกล่าว รู้จักผู้ทำงานวิจัยหรือผู้ประพันธ์ หรือมีเหตุผลใดๆก็ตามที่อาจส่งผลให้ไม่สามารถประเมินบทความได้อย่างเที่ยงตรง ผู้ประเมินควรแจ้งต่อบรรณาธิการและปฏิเสธการรับประเมินบทความนั้นๆ ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจรวมถึงการแข่งขัน การมีส่วนร่วม ผลประโยชน์ทางการเงิน การมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับผู้ประพันธ์ท่านใดก็ตามในบทความนั้น หรือ สถาบันที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้นๆ
ความเที่ยงตรง (Objectivity): บทความหรืองานวิจัยนี้ควรได้รับการประเมินอย่างเที่ยงตรงและไม่มีความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยหลักในการประเมินคุณภาพโดยรวมของบทความหรืองานวิจัยได้แก่ ความสำคัญของบทความหรืองานวิจัยที่ส่งผลต่อองค์ความรู้สาขานั้นๆ คุณภาพของการประพันธ์และการชี้แจง อธิบาย หรือโต้แย้งด้วยเหตุผลและหลักฐานเชิงประจักษ์ ความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ประเมินโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยในการตัดสินหรือประเมินบทความหรืองานวิจัยนั้นๆ
การกล่าวอ้างอิง (Acknowledgement of sources): ผู้ประเมินควรระบุงานวิจัยอื่นๆที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับบทความหรืองานวิจัยนั้นๆ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้ แต่ผู้ประพันธ์ยังไม่ได้อ้างอิงถึง รวมถึงผู้ประเมินควรแจ้งบรรณาธิการหากพบว่าบทความหรืองานวิจัยที่ได้รับมอบหมายมีความคล้ายคลึงหรือทับซ้อนกับงานวิจัยหรือบทความอื่นๆที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
จริยธรรมของบรรณาธิการ (Ethics of Editors)
การรักษาความลับ (Confidentiality): บรรณาธิการ Journal of Thai Association of Radiation Oncology ใช้วิธีอำพรางสองฝ่าย (double-blinded) ในการประเมินงานวิจัยโดยผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (peer review) โดยผู้ประพันธ์และผู้ประเมินต้องไม่ทราบตัวตนของอีกฝ่าย บรรณาธิการควรพยายามอย่างเต็มความสามารถในการปกปิดตัวตนของผู้ประพันธ์และผู้ประเมิน ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากการประเมินงานวิจัยโดยผู้ทรงคุณวุฒิต้องเก็บเป็นความลับ และไม่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล รวมถึงบรรณาธิการไม่สามารถอ้างอิง หรือใช้ข้อมูลจากงานวิจัยนั้นๆที่ผู้ประพันธ์แนบมาแต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ ยกเว้นกรณีที่มีหลักฐานการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประพันธ์
ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of interest): บรรณาธิการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับงานวิจัยหรือบทความนั้น จำเป็นต้องถอนตัวออกจากกระบวนการประเมินงานวิจัย ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจรวมถึงการแข่งขัน การมีส่วนร่วม ผลประโยชน์ทางการเงิน การมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับผู้ประพันธ์ท่านใดก็ตามในบทความนั้น หรือ สถาบันที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้นๆ
ความเที่ยงตรง (Objectivity): การตัดสินใจว่าบทความหรืองานวิจัยนั้นๆควรได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ บรรณาธิการต้องตัดสินอย่างเที่ยงตรงตามต้นฉบับบทความหรืองานวิจัยและการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ ปัจจัยหลักในการประเมินคุณภาพโดยรวมของบทความหรืองานวิจัยได้แก่ ความสำคัญของบทความหรืองานวิจัยที่ส่งผลต่อองค์ความรู้สาขานั้นๆ คุณภาพของการประพันธ์และการชี้แจง อธิบาย หรือโต้แย้งด้วยเหตุผลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนบทความหรืองานวิจัยนั้นๆ ความคิดเห็นส่วนบุคคลโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยในการตัดสิน
การตัดสินใจตีพิมพ์ (Publication Decisions)
Journal of Thai Association of Radiation Oncology จะไม่รับบทความหรืองานวิจัยที่เคยได้รับการตีพิมพ์มาแล้ว (ยกเว้นในรูปแบบบทคัดย่อ) หรือ กำลังอยู่ในการพิจารณาสำหรับตีพิมพ์จากวารสารอื่น ผู้ประพันธ์ไม่ควรส่งบทความหรืองานวิจัยที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ Journal of Thai Association of Radiation Oncology ไปเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
บรรณาธิการ Journal of Thai Association of Radiation Oncology มีหน้าที่ในการตัดสินใจว่าบทความหรืองานวิจัยใดที่สมควรได้รับการตีพิมพ์ โดยอาศัยแนวทางจากนโยบายของกองบรรณาธิการวารสารและข้อบังคับทางกฎหมาย หากสงสัยว่ามีการกระทำผิดข้อบังคับ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การหมิ่นประมาทหรือโจมตีผู้อื่น การลอกเลียนข้อความผู้อื่น เป็นต้น บรรณาธิการอาจปรึกษากับบรรณาธิการท่านอื่น และผู้ประเมินในการตัดสินใจต่อไป