การผลักตัวยาเข้าเนื้อเยื่อด้วยอัลตราซาวด์

Authors

  • อภิชนา โฆวินทะ

Abstract

อาการปวดกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ (musculoskeletal pain)เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สาเหตุสำคัญคือการใช้กล้ามเนื้อหรือท่าทางขณะทำงานไม่ถูกต้อง กล้ามเนื้อจึงทำงานไม่สมดุล, บางมัดหดเกร็ง, บางมัดถูกยืดเกินจนอาจฉีกขาด, บางมัดอักเสบ ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดได้กับเอ็นกล้ามเนื้อข้อและเอ็น เช่นกัน

 

วิธีการบำบัดเพื่อทุเลาอาการปวดในเวชปฏิบัติแบ่งออกเป็น การบำบัดด้วยยาเพื่อทุเลาอาการปวด (pharmacological treatment)และการบำบัดโดยไม่ใช้ยา (non-pharmacological treatment) เช่น การพัก, การใช้ความร้อน-ความเย็น, การลดการอักเสบด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด (physical modalities), การใช้อุปกรณ์พยุง (orthoses/splints), การปรับท่าทางขณะทำงานให้เหมาะสม, การปรับสภาพแวดล้อมในบ้านและสถานที่ทำงาน, กายบริหาร/การออกกำลังกาย เป็นต้น

 

ที่ผ่านมา แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเลือกให้การบำบัดด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด และเครื่องมือที่ได้รับความนิยมสูงคือ เครื่องอัลตราซาวด์ (ultrasound diathermy, US) ที่ทำให้เกิดคลื่นเสียงความถี่สูงที่ให้ความร้อนในเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก 2-5 ซม. และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ คลื่นเสียงความถี่สูงยังถูกใช้ร่วมกับการใช้ยาโดยคลื่นเสียงความถี่สูงช่วยผลักตัวยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เข้าสูงผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เรียกวิธีการนี้ว่า phonophoresis เพื่อหวังผลต่อการบำบัดทุเลาอาการอักเสบ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยทั้งที่สนับสนุนว่าการใช้อัลตราซาวด์สามารถดัน dexamethasone เข้าสู่ร่างกายได้จริง

 

ในเวชศาสตร์ฟื้นฟูสารฉบับนี้ เรานำเสนอผลงานวิจัยการใช้ phonophoresisเพื่อดันตัวยา piroxicam gel ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบเปรียบเทียบกับการใช้ US ร่วมกับการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อลดปวด (transcutaneous electrical nerve stimulation, TENS) พบว่าการบำบัดทั้งสองวิธีสามารถลดอาการปวดและเพิ่มความสามารถทำกิจกรรมให้กับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ อนึ่ง อาการปวดลดลงมากกว่าในกลุ่ม phonophoresis แม้ความแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษานี้ก็ทำให้เราตระหนักถึงวิธีการ phonophoresis ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยเป็นที่นิยม แต่ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดได้

Downloads

Published

2017-08-29