ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย

Authors

  • เสก อักษรานุเคราะห์
  • อรฉัตร โตษยานนท์
  • เพื่องฟ้า ฤทธาคนี คุณาดร

Keywords:

ในหลวงรัชกาลที่9, งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย

Abstract

ดังที่ทราบกันทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงห่วงใยทุกข์สุขและสุขภาพของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการ ดังจะเห็นได้จากการพระราชทานเครื่องมือด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และการจัดตั้งสถานพักพื้นสวางคนิวาศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนางานเวชศาสตร์ฟื้นฟูและเวชกรรมฟื้นฟูในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดย่อ ดังนี้

 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เมื่อปี พ.ศ.2495 โรคโปลิโอระบาดเป็นครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย มีผู้ป่วยเด็กเจ็บป่วยพิการเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ทรงมีพระราชปรารถผ่านทางราชเลขาธิการ (หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์)  พระราชทานเงินทุน “โปลิโอสงเคราะห์” จำนวน 100,000 บาท  เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคไข้สันหลังอักเสบในการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านกายภาพบำบัดแก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช 

เงินทุนพระราชทานในครั้งนั้น ได้นำไปจัดซื้อเครื่องมือ เครื่องใช้ทางด้านกายภาพบำบัด เป็นจำนวนทั้งสิ้น 8 รายการคือ 1) เครื่องกระตุกกล้ามเนื้อ               2 เครื่อง 2) หลอดรังสี infrared 3 เครื่อง 3) เครื่องเพิ่มกำลังไฟฟ้า ขนาด 110V, 40 amp 1 เครื่อง 4) เครื่อง short wave diathermy 2 เครื่อง 5) เครื่อง whirlpool bath 1 เครื่อง 6) เครื่องทำให้น้ำอุ่น Heater 1 เครื่อง 7) เครื่องสอนเดิน walker ผู้ใหญ่  2 เครื่อง และเด็ก  2 เครื่อง และ 8) อ่างน้ำขนาดใหญ่ สำหรับลงแช่ได้ทั้งตัว 1  เครื่อง

 

อ่างน้ำขนาดใหญ่ หรือ Hubbard tank และ whirlpool bath พระราชทานนี้ ยังใช้การได้อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้  โดยผ่านการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าต่อมาผู้ป่วยโรคโปลิโอจะมีจำนวนลดน้อยลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป  แต่เครื่องมือดังกล่าวก็ยังใช้เป็นประโยชน์ในการบำบัดรักษาเด็กโรคสมองพิการ ผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคหรือสาเหตุอื่น ๆ  ปัจจุบัน เครื่องดังกล่าวอยู่ในความดูแลของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู  เครื่อง Hubbard tank พระราชทานนี้  ถือเป็นสมบัติดีเด่น เป็นหนึ่งใน “120 ชิ้นเอกของศิริราช” (120 Memorabilia of Siriraj) 

 

ตึกมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ เป็นโรงงานแขนขาเทียม  โดยมีอาจารย์ดำรง  กิจกุศล (ตำแหน่งในขณะนั้น) หัวหน้าสาขาเครื่องช่วยคนพิการ  เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการ  เมื่อเดือนมีนาคม 2503  สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระยศขณะนั้น) ได้เสด็จมาเปิดตึกมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ  ตึกนี้นับว่าเป็นโรงงานแขนขาเทียมที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในยุคนั้น  มีชาวไทยและชาวต่างชาติจากละแวกใกล้เคียงมาขอใช้บริการทำแขนขาเทียม  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตึกนี้ได้ถูกรื้อไป  เพื่อสร้างตึกสยามินทร์ การทำแขนขาเทียม จึงย้ายไปอยู่ที่ตึกตรวจโรคนอกเก่าชั้น 1 เรียก “สาขากายอุปกรณ์”  ที่ต่อมาได้อยู่ในความดูแล ของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู  ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2536

                ตึกศรีสังวาลย์ (9 ชั้น) ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ อดีตเคยเป็นตึก 3 ชั้น และตึกเล็ก (สระน้ำ)  1 ชั้น ได้รับพระราชทานนามว่า “ตึกศรีสังวาลย์”  เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2503 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระยศขณะนั้น) ขณะดำรงตำแหน่ง เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”  ได้เสด็จมาทรงประกอบพิธีเปิดตึก “ศรีสังวาลย์”ณ โรงพยาบาลศิริราช  ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ตึกดังกล่าวได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับให้การดูแลบำบัดรักษาผู้เจ็บป่วยและผู้พิการ  ตลอดจนเป็นแหล่งใช้ประโยชน์ สำหรับการศึกษาแก่แพทย์  นักศึกษาแพทย์  นักศึกษากายภาพบำบัด และผู้สนใจอื่น ๆ  เนื่องจากผู้ป่วยที่มารับบริการการรักษามีจำนวนมากขึ้น พื้นที่เดิมที่มีอยู่ไม่พอเพียง  ในปี พ.ศ. 2528-2530  อาคารศรีสังวาลย์นี้ ได้ถูกยุบและสร้างเป็นอาคารใหม่ 8 ชั้น (ต่อมาเพิ่มเป็น 9 ชั้น)  และตึกเล็ก (อาคารสระน้ำ) สร้างเป็น 4 ชั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ได้เสด็จมาเปิดตึก “ตึกศรีสังวาลย์” ใหม่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2530 เป็นที่ปฏิบัติงานของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ตลอดมาจนปัจจุบัน

                นอกจากพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวข้องกับงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ดังกล่าวมาเบื้องต้นแล้วนั้น ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการที่ได้รับโอกาส ให้ได้มีส่วนร่วมถวายการดูแลบำบัดรักษาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์หลาย ๆ พระองค์  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  นับว่าเป็นเกียรติยศ ความภาคภูมิใจของภาควิชาฯ อย่างหาที่สุดมิได้  ซึ่งได้จดจารจารึกไว้ในหัวใจชั่วนิรันดร์

 

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

พลตรีขุนปทุมโรคประหารได้เริ่มการก่อตั้งแผนกกายบำบัดครั้งแรกขึ้นในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2478 ต่อมาเมื่อ 6 ต.ค. 2483   พลตรีขุนปทุมโรคประหารได้มีโอกาสศึกษาวิชา Physical Medicine ที่ North Western University เมืองChicago ประเทศสหรัฐอเมริกา และอยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   ท่านได้เดินทางกลับและก่อตั้งทูเมอร์คลินิก และขยายงานแผนกกายภาพบำบัดที่บริเวณชั้นล่างตึกรังสี (พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ในพระราชวังพญาไท) ในปี พ.ศ.2491 และใน พ.ศ. 2493 ท่านได้ก่อตั้งหน่วยแขน–ขาเทียมขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้พิการในช่วงสงครามเกาหลีรวมทั้งประดิษฐ์แขน–ขาเทียม เครื่องมือกายภาพบำบัด 22 รายการและได้ผลิตถังน้ำอุ่น (Hubbard tank) ซึ่งเป็นการนำเอาความรู้ทางด้าน hydrotherapy มาใช้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยสำหรับใช้ออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการในช่วงมีการระบาดของ โปลิโอ ซึ่งอธิบดีกรมอนามัยยอมรับว่ายังไม่เคยมีใช้มาก่อน   

            ขณะนั้นโรคโปลิโอระบาดมีผู้มาขอรับการรักษาที่แผนกกายภาพบำบัดที่พลตรีขุนปทุมโรคประหารได้ก่อตั้งขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในวันที่ 27 พ.ย. 2495 เวลา 11.00 น. หลังจากได้เสด็จเยี่ยมทหารป่วยเจ็บที่มาจากสมรภูมิเกาหลี ณ ตึกมานะธรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังตึกรังสี ทรงทอดพระเนตรกิจการของกองรังสีกรรมและแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งรวมถึงงานธาราบำบัดและงานกายอุปกรณ์เทียมกายอุปกรณ์เสริมที่พลตรีขุนปทุมโรคประหารถวายให้ทอดพระเนตร  และได้ทรงพระกรุณาพระราชทานทรัพย์จำนวน  250,000  บาท ก่อตั้งทุนโปลิโอสงเคราะห์ เมื่อ 27 ธ.ค. 2495  และเริ่มก่อสร้างอาคาร  “ ตึกวชิราลงกรณ์ ธาราบำบัด ”  ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ 25 พ.ย. 2496

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2497  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร   ทรงเปิดตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัด  และถือเป็น “วันโปลิโอสงเคราะห์” ตั้งแต่นั้นมา

 

ในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ได้พระราชทาน “ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน” เพื่อใช้ในการฟื้นฟูและฝึกอาชีพให้กับผู้ป่วยราชการสนามที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากสงครามเวียดนาม ซึ่งได้มารับการรักษาตัวเป็นจำนวนมากที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า และพระราชทานแต่งตั้งให้ พลตรีขุนปทุมโรคประหาร เป็นผู้อำนวยการเมื่อ 2 พ.ค. 2511 

 

วันพฤหัสบดี ที่ 12 มีนาคม 2513 เวลา 15.30 น . พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อทรงเยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพและโรงฝึกงานพระราชทานแก่ทหารพิการ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงอาคารศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน  พลตรีขุนปทุมโรคประหาร ผู้อำนวย การศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน เฝ้า ฯ รอรับเสด็จ ฯ แล้ว กราบบังคมทูลรายงานกิจการของศูนย์ ฯ หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงฝึกงานพระราชทาน ทอดพระเนตรเครื่องมือในการรักษาพยาบาลทหาร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานในโอกาสนี้ คือเครื่องลดอุณหภูมิของร่างกาย จำนวน 2 เครื่อง เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดสมอง และที่นอนยาง สำหรับใช้ในการรักษาคนไข้ โดยมี   ร้อยเอก นายแพทย์ บัวจันทร์ สกุลณะมรรคา เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายคำอธิบาย ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการจัดเตรียมผู้ป่วยให้ใช้แขนขาเทียมได้โดยเร็ว หลังจากการผ่าตัด โดยมี พันโท นายแพทย์  ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายคำอธิบาย และได้มีการสร้างตึกลิ้นจี่ กิตติขจร ขึ้นเป็นสถานพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยทหารที่พิการขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงได้สร้างคุณูปการให้กับงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูไทย ในด้านการสนับสนุนให้ดูแลฟื้นฟูทหารและผู้พิการให้ดีที่สุด เช่น สนับสนุนงานด้านธาราบำบัด งานกายอุปกรณ์เทียม อุปกรณ์เสริม นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้ทหารและผู้พิการได้ฝึกอาชีพ ดังจะเห็นได้ว่าทรงพระราชทานทรัพย์เพื่อสร้างศูนย์อาชีพพระราชทาน ให้เป็นแนวทางเพื่อผู้พิการจะได้มีอาชีพดูแลตัวเอง ซึ่งงานฝึกอาชีพนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยมีท่านขุนปทุมโรคประหาร ไปดูแลเป็นท่านแรกและได้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

                สำหรับกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ดำเนินการดูแลทหารและพลเรือนที่พิการมาอย่างต่อเนื่อง และได้ขยายงานด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมดูแลผู้พิการให้ดียิ่งขึ้น โดยมีหอผู้ป่วยใน 40 เตียง และตรวจรักษาผู้ป่วยนอกได้เฉลี่ย 100 ราย/วัน และมีการตรวจพิเศษและคลินิกเฉพาะทางที่เพิ่มขึ้น ได้แก่การตรวจวินิจฉัยเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (Electrodiagnosis), การตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินปัสสาวะ (Urodynamic study), การตรวจอัลตร้าซาวด์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อและโรคกระดูก (Diagnostic ultrasound for musculoskeleton), คลินิกลดเกร็ง (Spasticity clinic), คลินิกฟื้นฟูหัวใจ (Cardiac rehabilitation clinic), คลินิกฟื้นฟูโรคปอด (Pulmonary rehabilitation clinic), คลินิกแก้ไขปัญหาทางเพศในผู้พิการ (Sexual rehabilitation clinic), คลินิกรักษาแผลเรื้อรังขั้นสูง (Advance wound care clinic), คลินิกโรคเท้า (Foot clinic)

                อีกทั้งยังได้ให้การดูแลผู้ป่วยราชการสนามอย่างครบวงจร โดยได้จัดให้มีการฝึกและการทำกิจกรรมฟื้นฟู ณ สถานพักฟื้นตากอากาศบางปู เพื่อให้ผู้ป่วยราชการสนามและครอบครัวมีความมั่นใจว่าจะสามารถดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆได้โดยเฉพาะ ด้านกิจวัตรประจำวัน และหาแนวทางที่จะให้ผู้ป่วยทหารพิการและครอบครัวได้มีอาชีพที่เหมาะสมต่อไป  (Prevocational training) ตลอดจนได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านทหารพิการ และจัดสัมมนาให้ชุมชนที่ทหารพิการอยู่นั้นได้ร่วมกันดูแลทหารพิการเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องให้ดีที่สุด และได้ส่งอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เชี่ยวชาญด้านกายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม ไปร่วมทำงานกับกองออร์โธปิดิกส์ในคลินิกแขนขาเทียม ส่วนงานด้านเวชศาสตร์การกีฬาในผู้พิการ (Sport Medicine for Disable) ก็ได้มีอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ไปช่วยงานถึงระดับเป็นแพทย์ประจำทีมนักกีฬาคนพิการไทยในพาราลิมปิกส์เกมส์

                นอกจากนี้ พลตรีหญิง เฟื่องฟ้า   คุณาดร อาจารย์อาวุโสด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ยังได้เป็นกรรมการแพทย์ของมูลนิธิสายใจไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงก่อตั้งขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ ออกหน่วยแพทย์ติดตามดูแลสมาชิกสายใจไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

                ทั้งนี้ เพื่อให้สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ดังที่ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับผู้พิการไว้ว่า “ผู้ที่พิการทางกาย เมื่อได้รับการฟื้นฟูบำบัดแล้ว จะไม่พิการทางจิตใจต่อไป  เพราะจะสามารถช่วยตัวเอง   และประกอบอาชีพต่อไปได้

 

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางคนิวาส เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2505  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ  เสด็จเป็นองค์ประธานรับมอบที่ดินประมาณ 60 ไร่  ณ ตำบลบางปิ้ง  อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  พร้อมด้วยสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด จากนายอื้อจือเหลียง ประธานกรรมการอื้อจือเหลียงมูลนิธิ   

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานต่อให้สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ เป็นองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลพักฟื้นคนเจ็บเรื้อรังที่ต้องการอยู่รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และพระราชทานนามสถานที่นี้ว่า “สวางคนิวาส” (อ่านแบบบาลี ว่า สะ-วาง-คะ-นิ-วาด แปลว่าเมืองสวรรค์ แต่ถ้าอ่านแบบสันสกฤตว่า สะ-หวาง-คะ-นิ-วาด จะแปลว่า เมืองนรก)  และโรงพยาบาลที่สภากาชาดไทยตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ใช้ชื่อว่า “สถานพักฟื้นสวางคนิวาส” ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2524  ซึ่งเป็นปีสากลคนพิการ สภากาชาดไทยเห็นความสำคัญของผู้ป่วยพิการ จึงเปลี่ยนสถานพักฟื้นสวางคนิวาส ให้เป็น ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางคนิวาส ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2525  ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จทรงเปิดอาคารศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู 

ซึ่งมีความทันสมัยและสถานที่ให้บริการมากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางคนิวาส มีความเจริญเติบโต จนมีเตียงคนไข้ถึง 100 เตียง  มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด  180 คน  มีบริการรักษาคนไข้  เป็นที่ฝึกของแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู, นักศึกษากายภาพบำบัด, นักศึกษากิจกรรมบำบัด, นักศึกษาอรรถบำบัด จากทุกสถานบันที่มีการสอนวิชาเหล่านั้น และขณะนี้ยังมีบริการ Daycare ให้กับเด็กพิการทางสมอง ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และล่าสุดมีการจัดตั้งศูนย์ขาเทียม สาขาของมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมอยู่ด้วย

 

นับได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นผู้ให้กำเนิดศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภากาชาดไทย ที่ “สวางคนิวาส” ที่พระองค์พระราชทานให้สภากาชาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2505

Downloads

Published

2016-12-30