ก้าวสู่วารสารคุณภาพสากล

Towards International Quality Journal

Authors

  • อภิชนา โฆวินทะ

Keywords:

ก้าวสู่วารสารคุณภาพสากล

Abstract

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre, TCI) ได้พัฒนาระบบ submission online ให้แก่วารสารวิชาการในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายให้มีวารสารไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล มีการประเมินและจัดกลุ่มวารสารอิงตามคุณภาพออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 หมายถึง วารสารที่คุณภาพตามมาตรฐานที่ TCI กำหนด, กลุ่ม 2 หมายถึง วารสารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานแต่ยังต้องปรับปรุงบางประเด็น หากมีการพัฒนาปรับปรุง ก็สามารถอยู่ในกลุ่ม 1 ได้ในอนาคต และกลุ่ม 3 หมายถึง วารสารที่ยังไม่ได้มาตรฐาน

จากการประชุมเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารไทย ครั้งที่ 12 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีบรรณาธิการวารสารวิชาการต่าง ๆ ในประเทศไทยเข้าร่วมประชุมมากกว่า 250 คน โดย ศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์นี้ ได้รายงานว่าสามารถผลักดัน และยกระดับวารสารไทยที่มีคุณภาพ จนมีวารสาร 10  ฉบับ ได้รับการยอมรับเข้าสู่ฐานข้อมูลสากล SCOPUS ซึ่งทำให้ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าวปรากฏต่อผู้สนใจทั่วโลกได้อย่างสะดวกและถูกอ้างอิงได้

ปัจจุบัน เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ซึ่งเป็นวารสารที่ต้นฉบับก่อนตีพิมพ์จะถูกประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือที่เรียกกระบวนการนี้ว่า peer-review และมีการออกตรงเวลาตามกำหนด และได้ถูกประเมินคุณภาพ นอกจากนี้ ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในเวชศาสตร์ฟื้นฟูสารยังถูกอ้างอิงในฐานข้อมูล TCI ซึ่งที่ผ่านมีค่า TCI impact factor มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดย ปี พ.ศ. 2557 TCI impact factor เท่ากับ 0.061, ปี พ.ศ. 2558 เท่ากับ 0.188  และปี พ.ศ. 2559 เท่ากับ 0.212   เวชศาสตร์ฟื้นฟูสารจึงจัดอยู่ในกลุ่ม 1 ของฐานข้อมูล TCI

อนึ่ง การประเมินคุณภาพวารสารไทย รอบต่อไปคือปลายปี พ.ศ. 2562 โดยพิจารณาจากผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึง 2562 ซึ่งจะมีการประเมินที่เข้มข้นขึ้น และใช้เกณฑ์การประเมินที่สูงขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประกาศ กพอ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2560 โดยผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 สามารถใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้ ทั้งนี้ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ใช้ขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ได้ ทั้งนี้ ผลงานวิชาการ ได้แก่ ผลงานวิจัย และผลงานวิชาการในลักษณะอื่น เช่น ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้, ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ, กรณีศึกษา, ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สิทธิ-บัตร เป็นต้น

เกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารครั้งต่อไปจะมีความเข้มข้นขึ้น นอกจากการประเมินนโยบายวารสาร ได้แก่ การมี peer-review, วารสารมีอายุอย่างน้อย 3 ปี, วารสารกำหนดนโยบายและจุดประสงค์ชัดเจน, กองบรรณาธิการประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากหลากหลายสถาบัน, ผู้นิพนธ์มีความหลากหลาย, รูปแบบการจัดพิมพ์ต้นฉบับที่คงที่ นอกจากนี้ เกณฑ์ยังพิจารณาถึงการอ้างอิง, การออกตรงเวลา และการอยู่ในระบบ online ทั้งนี้ การยื่นต้นฉบับและการสืบค้นต้นฉบับได้ในระบบ online อีกทั้งจะมีการสุ่มพิจารณาคุณภาพต้นฉบับที่ตีพิมพ์แล้วด้วย ดัวยเหตุนี้ สมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย และกองบรรณาธิการ จึงเห็นสมควรพัฒนาปรับปรุงและกำหนดเป้าหมายใหม่ให้แก่เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร โดยกำหนดเป้าหมายคือการเป็นวารสารเวชศาสตร์ฟื้นฟูอาเซียน (ASEAN Journal of Rehabilitation Medicine) ในอนาคต จึงกำหนดให้มีการปรับกองบรรณาธิการใหม่ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยกองบรรณาธิการใหม่ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูไทยจากหลายสถาบันการศึกษา และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจากต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีการจัดการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับประเทศไทย นอกจากนี้ เวชศาสตร์ฟื้นฟูสารจะรับตีพิมพ์ต้นฉบับผลงานวิจัยและผลงานวิชาการในลักษณะอื่น ที่เป็นภาษาอังกฤษด้วย และกระบวนการยื่นต้นฉบับ, การพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ  (peer-review) การแก้ไข, การจัดทำต้นฉบับเพื่อตีพิพม์และการนำวารสารให้ปรากฏสู่สาธารณะ ใช้ระบบ online ThaiJO2 ซึ่งเป็นระบบที่ถูกพัฒนาให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งสำหรับผู้นิพนธ์, กองบรรณาธิการ, ผู้จัดทำ และผู้อ่าน

เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับผลงานวิจัยและผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู, เวชกรรมฟื้นฟู และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในนโยบาย วัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร จึงขอความร่วมมือสมาชิกสมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย, สมาชิกราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่และผู้สนใจ ส่งต้นฉบับผลงานวิจัยและผลงานวิชาการเพื่อช่วยพัฒนางานเวชกรรมฟื้นฟู และคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและผู้พิการที่รับบริการด้านเวชกรรมฟื้นฟู

Downloads

Published

2018-04-30