ผลของการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคลูปัส: การศึกษาในระยะเวลา 5 ปี

ผู้แต่ง

  • ภัทริยา มาลัยศรี กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

การตั้งครรภ์, โรคลูปัส

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคลูปัสเป็นโรคในกลุ่มภูมิต้านทานตนเองที่ทำให้เกิดการอักเสบหรืออาการผิดปกติในหลายอวัยวะในร่างกาย ซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงอายุน้อยและเป็นวัยเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์อาจมีผลกระทบทั้งการตั้งครรภ์ต่อโรคและโรคต่อการตั้งครรภ์

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราโรคกำเริบและผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ทั้งในมารดาและทารกในผู้ป่วยโรคลูปัสที่ตั้งครรภ์ โดยเปรียบเทียบตามความรุนแรงของโรคก่อนตั้งครรภ์จากการรวบรวมผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 5 ปี

วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาพรรณนาโดยการเก็บข้อมูลย้อนหลัง เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอกและเวชระเบียนผู้ป่วยใน ในผู้ป่วยโรคลูปัสที่ได้รับการรักษาและติดตามการรักษาโดยอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช วิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ นำเสนอด้วย ความถี่ ร้อยละ

ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยโรคลูปัสที่ตั้งครรภ์ ทั้งหมด 24 ราย คิดเป็น 39 ครั้งการตั้งครรภ์ โดยเฉลี่ยอายุ 29 ± 4.64 ปี ผลการตั้งครรภ์พบทารกแท้งเองในครรภ์ 9 ราย (ร้อยละ 23) ทารกตายคลอด 4 ราย (ร้อยละ 10.3) ทารกคลอดครบกำหนด 23 ราย (ร้อยละ 59) ทารกคลอดก่อนกำหนด 1 ราย (ร้อยละ 2.6) และต้องยุติการตั้งครรภ์ 2 ราย (ร้อยละ 5.1) ครรภ์เป็นพิษ 3 ราย (ร้อยละ 7.6) และพบโรคลูปัสกำเริบ 4 ราย (ร้อยละ 10.2)

สรุป: ผู้ป่วยโรคลูปัสที่โรคสงบนานกว่า 6 เดือนและได้รับการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์จะช่วยให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จมีผลดีและโรคไม่กำเริบ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-01-01