การติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้องในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง: ประสบการณ์ 10 ปี ในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • วงศกร บุญกาญจน์ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

การติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้อง, ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

บทคัดย่อ

บทนำ: การติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้องเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นการศึกษาหาปัจจัยเสี่ยงจึงมีความสำคัญ ในการวางแผนและวางมาตรการป้องกันการติดเชื้อราในอนาคต

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราการเกิดการติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้อง อาการแสดง และปัจจัยความสัมพันธ์การเกิดการติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้อง ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ย้อนหลังเป็นระยะเวลา 10 ปี

วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาพรรณนาโดยการเก็บข้อมูลย้อนหลัง (descriptive  study) เป็นระยะ เวลา 10 ปี โดยรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนของผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ นำเสนอด้วย ความถี่ ร้อยละ และ T-test

ผลการศึกษา: มี 43 คนที่มีรายงานการติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้อง อาการนำทางคลินิกที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้อง คือ ปวดท้องและมีไข้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ร้อยละ 62.7 เคยได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครอบคลุมแบบวงกว้าง และร้อยละ 55.81 มีประวัติติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุช่องท้องนำมาก่อน โดยราสายพันธุ์ Non-albicans Candida เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยคิดเป็นร้อยละ 53.5 และผู้ป่วยร้อยละ 23.3 เสียชีวิตในช่วงที่ติดเชื้อราที่เยื่อบุช่องท้อง ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อราที่เยื่อบุช่องท้อง คือมีประวัติการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อบุช่องท้องมาก่อนหน้า (p=0.01) และภาวะ อัลบูลมินในเลือดที่ต่ำกว่า 2 กรัมต่อเดซิลิตร (p=0.03)

สรุป: การได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อนหน้านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดการติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้อง การพยายามตรวจหาการติดเชื้อราในเยื่อบุช่องท้องตั้งแต่ระยะแรก จะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม และสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-07-01