การศึกษาระบบบริการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของโรงพยาบาลเชียรใหญ่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • จิตสุภา ถาวระ
  • เบญจรัตน์ ช่วยสงค์
  • พฤฒินันท์ จันทรัตน์
  • พัชราภรณ์ ขจรวัฒนากุล

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อศึกษาการจัดบริการคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรงพยาบาลเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเพื่อศึกษาความรู้ และพฤติกรรมการป้องกันการเกิดหอบเหนื่อยกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในโรงพยาบาลเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

วัสดุและวิธีการศึกษา: การศึกษา โดยใช้รูปแบบการศึกษาเชิงคุณภาพ ระยะเวลาการศึกษา วันที่  18 กันยายน – 2 ตุลาคม 2560 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 10 คน  และผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี ที่รับบริการที่คลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของโรงพยาบาลเชียรใหญ่  ในระยะเวลา 18กันยายน –2ตุลาคม 2560 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling)  จำนวน 16 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมทั้งการสังเกตจากการสาธิตการพ่นยา และการรับประทานยาของผู้ป่วย โดยนำข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์และสรุปผล

ผลการศึกษา: พบว่า โรงพยาบาลเชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราชมีแนวทางการดูแลรักษา และป้องกันอาการหอบเหนื่อยกำเริบเฉียบพลันให้กับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่การปฏิบัติจริงไม่ได้ใช้แนวทางดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วยทุกครั้ง  โรงพยาบาลมีการอบรมให้ความรู้ทางวิชาการแก่บุคลากร  และมอบหมายงานให้กับสหวิชาชีพชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร บุคลากรทราบบทบาทและหน้าที่ในการปฏิบัติงานถูกต้องครบถ้วน นอกจากนี้มีการวิเคราะห์ข้อมูลทุกปี และข้อมูลทุกตัวผ่านตัวชี้วัด แต่จากข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลพบว่าผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเข้ามารับรักษาแบบผู้ป่วยในมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 และเป็นสาเหตุอันดับที่ 6 ของการมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ในปี 2559  ด้านการจัดบริการมีคลินิกโรคปอดอุดกั้น  มีคลินิกฟ้าใส (คลินิกเลิกบุหรี่ ) กรณีผู้ป่วยการเกิดหอบเหนื่อยกำเริบเฉียบพลัน ให้บริการที่ห้องฉุกเฉิน  และแผนกผู้ป่วยใน รวมทั้งมีหน่วยงานการเยี่ยมบ้าน  ผลการศึกษาด้านความรู้ และพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดหอบเหนื่อยกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้น พบว่าผู้ป่วยมีความรู้เรื่องสาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  และการป้องกันอาการหอบเหนื่อยกำเริบเฉียบพลัน ด้านพฤติกรรมพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง แต่พบว่ามีพฤติกรรมทางสังคมบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออาการหอบเหนื่อยกำเริบเฉียบพลัน ได้แก่การก่อไฟเพื่อเผาฟางข้าว ไล่ยุงเวลากลางคืน และจากการให้ผู้ป่วยทดลองพ่นยาจริงกลับ พบว่าจากผู้ป่วยทั้งหมด 16 คน มีผู้ป่วยจำนวน 10 คน ที่พ่นยายังไม่ถูกต้อง และไม่ได้พกพายาพ่นฉุกเฉินติดตัว

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-01-01