รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ประสานการส่งต่อระดับเขต ของเขตสุขภาพที่ 6
บทคัดย่อ
บทนำ: กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดระบบบริการสุขภาพระหว่างจังหวัดที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบส่งต่อ ภายใต้หลักการ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” โดยมีศูนย์ประสานการส่งต่อ (Referral Coordination Center)ระดับเขต ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ทำหน้าที่ในการประสานงาน ติดตาม และรายงานผลการส่งต่อผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการส่งต่อผู้ป่วยได้เพิ่มสูงขึ้น และมีปัญหาเกิดขึ้นในหลายด้าน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึงสถานการณ์การบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาศูนย์ประสานการส่งต่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ประสานการส่งต่อระดับเขต ของเขตสุขภาพที่ 6
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) กลุ่มเป้าหมายมี 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้บริหาร ได้แก่ ผู้บริหารศูนย์ประสานการส่งต่อใน 8 จังหวัด รวม 8 คน ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก 2) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประสานการส่งต่อใน 8 จังหวัดๆ ละ 3 คน รวม 24 คนใช้การสนทนากลุ่ม โดยเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้างตามแนวทาง 4 M คือ การบริหารจัดการ (Management) บุคลากร (Man) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และงบประมาณ (Money) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา: พบว่า 1) รูปแบบการบริหารจัดการของศูนย์ประสานการส่งต่อระดับเขตของทั้ง 2 โรงพยาบาล มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน มีเป้าหมาย/แนวทาง/ขั้นตอนปฏิบัติงานกับโรงพยาบาลในเครือข่าย แต่โครงสร้างการทำงานของศูนย์ฯ ไม่ชัดเจน ไม่มีกลยุทธ์/แผนงาน/โครงการเพื่อพัฒนางานทั้งในศูนย์ฯ และโรงพยาบาลในเครือข่าย ใช้เครื่องมือการส่งต่อที่ซ้ำซ้อน ขาดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการส่งต่อใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกับงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน ใช้เงินบำรุงในการพัฒนางานที่ไม่ครอบคลุมบทบาทหน้าที่ของศูนย์ฯ มีพยาบาลวิชาชีพในเวรเช้าแต่ยังไม่เพียงพอ ไม่มีการพัฒนาสมรรถนะและขาดการสร้างขวัญและกำลังใจในบุคลากร 2) รูปแบบที่ควรพัฒนา คือการบริหารจัดการศูนย์ประสานการส่งต่อระดับเขต (Regional Referral Coordination Center Model: R Model)
สรุป: การบริหารจัดการศูนย์ประสานการส่งต่อระดับเขตต้องมีการพัฒนาในหลายประการทั้งในด้านการบริหารจัดการ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณตามรูปแบบที่ได้พัฒนาขึ้นนี้
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาราชนครศรีธรรมราชเวชสาร ก่อนเท่านั้น