อุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและซี ในผู้บริจาคโลหิตภาคอีสานตอนบน: การศึกษาเพื่อพัฒนางาน

Authors

  • วิราศิณี ชัยมณี ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จังหวัดขอนแก่น สภากาชาดไทย
  • ยุพา เอื้อวิจิตรอรุณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Keywords:

Blood donors, HIV, HBV, HCV, Incidence

Abstract

บทคัดย่อ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ได้ให้บริการตรวจโลหิตบริจาคแก่โรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ตามความสมัครใจ วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาการให้บริการตรวจโรคติดเชื้อในโลหิตบริจาคด้วยการวิเคราะห์อุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ในผู้บริจาคโลหิตจังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจโลหิตบริจาค ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553 สัมพันธ์กับเพศ อายุ ครั้งที่บริจาค (รายใหม่/รายเก่า) โดยใช้ข้อมูลผู้บริจาคติดเชื้อของปี พ.ศ. 2549 เป็นฐานในการตรวจสอบผู้เคยติดเชื้อแล้วแต่บริจาคซ้ำในปีถัดมา เพื่อหาอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละปี ระหว่างพ.ศ. 2550-2553 ผลการศึกษา มีโลหิตบริจาคส่งตรวจ จำนวน 255,048 หน่วย จากผู้บริจาคโลหิต 204,203 ราย พบอุบัติการณ์การติดเชื้อแต่ละปีระหว่าง พ.ศ. 2550-2553 ตามลำดับดังนี้ การติดเชื้อเอชไอวีในผู้บริจาคโลหิตจังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 0.13, 0.17, 0.17 และ 0.16 จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยละ 0.09, 0.12, 0.08 และ 0.09 จังหวัดสกลนคร ร้อยละ 0.11, 0.22, 0.12 และ 0.09 และ จังหวัดนครพนม ร้อยละ 0.15, 0.05, 0.06 และ 0.11 การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในผู้บริจาคโลหิตจังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 2.47, 1.84, 1.62 และ 1.58 จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยละ 2.60, 2.44, 2.33 และ 1.85 จังหวัดสกลนคร ร้อยละ 3.00, 3.00, 2.40 และ 2.16 และจังหวัดนครพนม ร้อยละ 3.05, 2.21, 2.51 และ 2.21 อุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในผู้บริจาคโลหิตจังหวัดขอนแก่นร้อยละ 1.42, 0.99, 0.86 และ 0.81 จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยละ 2.45, 2.42, 2.07 และ 2.00 จังหวัดสกลนคร ร้อยละ 0.40, 0.29, 0.36 และ 0.39 และจังหวัดนครพนม ร้อยละ 0.58, 0.26, 0.19 และ 0.27 การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซีมีแนวโน้มลดลง ผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกติดเชื้อทุกชนิดสูงกว่าผู้บริจาคโลหิตรายเก่า และเพศชายติดเชื้อทุกชนิดสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างช่วงอายุในผู้บริจาคโลหิตครั้งแรก พบว่าผู้บริจาคโลหิตช่วงอายุ 17-20 ปี ติดเชื้อทุกชนิดต่ำสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อนึ่ง จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบปัญหาผลการตรวจที่ให้ผลไม่ชัดเจน (inconclusive: IC) ในผู้บริจาค 3,107 ราย (ร้อยละ 0.23) และผู้บริจาคโลหิตดังกล่าวได้บริจาคโลหิตต่อเนื่อง จำนวน 854 ราย พบว่าการบริจาคครั้งถัดมาให้ผลการตรวจเป็นลบ 465 (ร้อยละ 54.45) ยืนยันผลบวกปลอมของผล IC ในการบริจาคครั้งก่อนหน้า ให้ผลบวก 13 ราย (ร้อยละ1.52) แสดงถึงการติดเชื้อระยะแรกในการบริจาคครั้งก่อนหน้า และยังคงให้ผล IC อีก 376 ราย (ร้อยละ 44.03) การศึกษาครั้งนี้ยังพบปัญหาการบริจาคโลหิตซ้ำของผู้บริจาคที่เคยตรวจพบการติดเชื้อแล้วจำนวน 1,819 หน่วย จากผู้บริจาคโลหิต 1,591 ราย โดยบริจาค ณ หน่วยเคลื่อนที่ ร้อยละ 84.99 สรุป เพื่อลดความเสี่ยงของโลหิตบริจาคและความสูญเปล่า ควรหลีกเลี่ยงการรับบริจาคโลหิตจากผู้ที่เคยตรวจพบการติดเชื้อและผู้บริจาคที่ให้ผลการตรวจไม่ชัดเจน (IC) โดยต้องกำหนดแนวทางการจัดการข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน แจ้งผู้บริจาคและให้คำปรึกษาให้ทันเวลา ตลอดจนกำหนดวิธีปฏิบัติในกรณีของผล IC รวมทั้งตรวจสอบประวัติก่อนรับบริจาคโลหิตทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดูแลสุขภาพและป้องกันการแพร่เชื้อของผู้บริจาคติดเชื้อด้วย นอกจากนี้ควรรณรงค์เพิ่มผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ จากกลุ่มเยาวชน อายุ 17-20 ปี ร่วมกับการเพิ่มผู้บริจาคโลหิตเพศหญิง และรักษาไว้ให้เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำอย่างต่อเนื่องต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

Issue

Section

นิพนธ์ต้นฉบับ (Original article)