ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ในการบริจาคโลหิตที่ได้จากแบบสอบถาม
Keywords:
Donor vigilance, Donor adverse reactions, Questionnaire, National Blood Centre, Male blood donor, Female blood donorAbstract
บทคัดย่อ การเฝ้าระวังปฏิกิริยาและเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการบริจาคโลหิต (donor vigilance) เป็นการพัฒนาคุณภาพการบริการและความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิต ยังผลให้สามารถเพิ่มอัตราการกลับมาบริจาคโลหิตต่อไป (donor retention) ซึ่งปัจจุบันข้อมูลนี้ของประเทศไทยได้มาจากการสังเกตและเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่รับบริจาคโลหิตเท่านั้น ยังไม่มีการใช้วิธีการอื่นแต่อย่างใด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังปฏิกิริยาจากการบริจาคโลหิต ให้ครอบคลุมปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ระหว่าง หรือทันทีหลังการบริจาค รวมถึงที่เกิดขึ้นชนิดล่าช้าเมื่อผู้บริจาคได้ออกจากสถานที่รับบริจาคโลหิตไปแล้ว วัสดุและวิธีการ แจกแบบสอบถามให้ผู้บริจาคโลหิตสังเกตอาการที่เกิดขึ้นจากการบริจาคโลหิตภายใน 7 วัน และให้ตอบแบบสอบถามกลับภายใน 7-15 วัน ทางไปรษณีย์ธุรกิจตอบรับ โดยเริ่มทำการศึกษาในผู้บริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จำนวน 18,000 ราย และที่หน่วยเคลื่อนที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 7,000 ราย รวมทั้งสิ้น 25,000 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ลงบันทึกและบริหารข้อมูลโดยใช้ผ่าน Google Document การวิเคราะห์ข้อมูล ความถี่ และร้อยละ ใช้ excel function and formula และทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยใช้ โปรแกรม SPSS ทำ Chi-square test กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < 0.05 ผลการวิจัย จากการให้ตอบแบบสอบถาม พบว่า มีผู้บริจาคโลหิตตอบกลับทั้งหมด 4,714 ราย (26.19%) เป็นผู้บริจาคชาย 2,166 ราย (45.95%) และผู้บริจาคหญิง 2,548 ราย (54.05%) และมีผู้บริจาคเคลื่อนที่ตอบกลับ 1,370 ราย (19.57%) เป็นผู้บริจาคชาย 535 ราย (39.05%) และผู้บริจาคหญิง 835 ราย (60.95%) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากผู้บริจาคที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ คือ อาการเป็นลม (VVR) 692 ราย (14.68%) 186 ราย (8.59%) และ 506 ราย (19.86%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิงตามลำดับ VVR มีอัตราการเกิดสูงสุดในปฏิกิริยาทั้งหมด และรองลงไปตามลำดับคือเกิดรอยช้ำเขียวหรือก้อนเลือดขังใต้ผิวหนัง (hematoma) 514 ราย (10.90%) 146 ราย (6.74%) และ 368 ราย (14.44%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิงตามลำดับ มีอาการปวด เจ็บเสียว บริเวณที่เจาะเลือด (nerve injury) 164 ราย (3.48%) 59 ราย (2.72%) และ 105 ราย (4.12%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิงตามลำดับ และมีอาการแพ้ผื่นคันบริเวณที่เจาะหรือที่ติดพลาสเตอร์ (allergy) 103 ราย (2.18%) 40 ราย (1.85%) และ 63 ราย (2.47%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิงตามลำดับ มีหลอดเลือดอักเสบบริเวณที่เจาะ 33 ราย (0.70%) 9 ราย (0.42%) และ 24 ราย (0.94%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิงตามลำดับ มีอาการติดเชื้อเป็นแผลและ/หรือมีหนองบริเวณที่เจาะ 2 ราย (0.04%) 0 ราย (0%) และ 2 ราย (0.08%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิงตามลำดับ รวมผู้บริจาคโลหิตทุกอาการมีจำนวน 1,508 ราย (31.99%) 440 ราย (20.31%) และ 1,068 ราย (41.92%) ในผู้บริจาคทั้งหมด ผู้บริจาคชาย และผู้บริจาคหญิง สำหรับข้อมูลของผู้บริจาคโลหิตที่บริจาคที่หน่วยเคลื่อนที่ มีอัตราการเกิดใกล้เคียงกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ รวมทั้งรูปแบบ (pattern) การเกิดปฏิกิริยาก็คล้ายคลึงกัน กล่าวคือผู้บริจาคโลหิตที่มีปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดอาการเป็นลม คือ มีอายุน้อย บริจาคครั้งแรก ผู้บริจาคหญิง และเคยมีประวัติ VVR (all p < 0.05) นอกจากนี้การดื่มน้ำ 30 นาที ก่อนการบริจาคสามารถลดอัตรา VVR ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) สรุป อัตราการเกิดปฏิกิริยาจากการบริจาคโลหิตที่ได้จากแบบสอบถามสูงกว่าการเก็บสถิติโดยเจ้าหน้าที่ภายในสถานที่รับบริจาคโลหิต การตอบกลับแบบสอบถามอาการที่เกิดในการบริจาคโลหิตแต่ละครั้งของผู้บริจาคโลหิต เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิผลในการเฝ้าระวังปฏิกิริยาจากการบริจาคโลหิต และควรทำต่อเนื่องต่อไป แต่ควรพัฒนาวิธีการจูงใจให้มีการตอบเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความถูกต้องสมบูรณ์และสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น หรือพัฒนาให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิบัติงานในยุคสารสนเทศมากยิ่งขึ้น