การตอบสนองต่อ Erythropoietin ขนาดต่ำของผู้ป่วย Myelodysplastic Syndrome
Keywords:
Low risk Thai MDS, Low dose of erythropoietin therapy, Low serum level of erythropoietinAbstract
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการตอบสนองต่อการรักษาด้วยอิริทโธพอยอิตินขนาดต่ำในผู้ป่วยกลุ่มอาการไขกระดูกเจริญผิดปกติ (MDS) ว่ามีผลเกี่ยวข้องกับระดับซีรัมอิริทโธพอยอิตินในเลือดหรือไม่ ผู้ป่วยและวิธีการ เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วย MDS คนไทยระหว่างเดือนมกราคม 2534 - เดือนพฤษภาคม 2556 จำนวน 25 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำ 22 ราย และผู้ป่วยความเสี่ยงสูง 3 รายตามระบบการให้คะแนนการพยากรณ์โรคนานาชาติ (IPSS) ผลการศึกษา ในกลุ่มผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำ 22 รายที่ได้ตรวจระดับซีรัมอิริทโธพอยอิตินก่อนเริ่มการรักษา มีค่าต่ำ (4-72 มิลลิยูนิตต่อ มล.) ได้รับการรักษาเริ่มต้นด้วยอิริทโธพอยอิตินขนาดต่ำ (4,000-10,000 ยูนิตต่อสัปดาห์) พบว่าผู้ป่วย 18 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 ตอบสนองต่อการรักษา มีระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.85 กรัมต่อเดซิลิตรภายใน 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วย 11 รายตอบสนองดีมาก ไม่ต้องได้รับเลือดอีก และระยะเวลารอดชีวิตอยู่ที่ 3-12 ปี โดยมี median survival time เท่ากับ 10 ปี แต่ผู้ป่วย 7 รายซึ่งตอบสนองในระยะแรก มีอาการซีดเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มขนาดอิริทโธพอยอิติน โดยบางรายให้ร่วมกับยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว (G-CSF) มีระยะเวลารอดชีวิตอยู่ที่ 3-14 ปี โดยมี median survival time เท่ากับ 7 ปี พบว่าระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.66) ส่วนผู้ป่วยความเสี่ยงสูง 2 ราย มีระดับอิริทโธพอยอิตินสูง (> 200 มิลลิยูนิตต่อ มล.) มีระยะเวลารอดชีวิต ที่ 14 และ 16 เดือนตามลำดับ อีกหนึ่งรายมีระดับซีรัมอิริทโธพอยอิตินต่ำ (8.6 มิลลิยูนิตต่อ มล.) ตอบสนองต่ออิริทโธพอยอิตินขนาดต่ำ มีระยะเวลารอดชีวิตที่ 78 เดือน สรุป ผู้ป่วย MDS ไทยที่มีความเสี่ยงต่ำ มีระดับซีรัมอิริทโธพอยอิตินต่ำหรือไม่สูงมาก ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยอิริท-โธพอยอิตินขนาดต่ำได้ดีมาก และอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาขนาดสูง