การเปรียบเทียบการนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาวโดยกล้องจุลทรรศน์และ CellaVision DM96
Keywords:
การวิเคราะห์ภาพอัตโนมัติ, การใช้กล้องจุลทรรศน์, การนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว, Automated image analysis, Microscopy, Differential leukocyte countAbstract
บทคัดย่อ การนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาวเป็นส่วนหนึ่งของ complete blood count (CBC) ซึ่งมีความสำคัญในการประกอบการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วย การตรวจสเมียร์เลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นวิธีที่ใช้เวลานาน และต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์สูง CellaVision DM96 เป็นเครื่องอัตโนมัติที่มีระบบวิเคราะห์ภาพเซลล์จากสเมียร์เลือด โดยเครื่องอัตโนมัติจะกำหนดตำแหน่งและถ่ายภาพเม็ดเลือดขาวแล้วนำไปวิเคราะห์โดย artificial neural network ซึ่งมีฐานข้อมูลของเซลล์และทำการจำแนกเม็ดเลือดขาวตามชนิดภาพของเซลล์จะแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้ใช้ทำการยืนยันหรือจำแนกชนิดเม็ดเลือดขาวใหม่ วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินการนับเม็ดเลือดขาวโดยใช้เครื่อง CellaVision DM96 และ เปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐานซึ่งใช้กล้องจุลทรรศน์ วัสดุและวิธีการ ตัวอย่างเลือดเก็บในสารกันเลือดแข็ง tripotassium-ethylenediaminetetra-acetic acid (K3-EDTA) ของผู้ที่มีค่า CBC อยู่ในช่วงค่าอ้างอิง 100 ราย (ชาย 61 คน หญิง 39 คน) ซึ่งเหลือจากการตรวจ CBC ในงานประจำวันของห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาวถูกวิเคราะห์โดยเครื่อง CellaVision DM96 และนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับวิธีใช้กล้องจุลทรรศน์ ผลการศึกษา ช่วงพิสัยร้อยละ 95 ของการนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว หลังจากแก้ไขการจำแนกชนิดเม็ดเลือดขาวของเครื่อง CellaVision DM96 มีค่าใกล้เคียงกับวิธีมาตรฐานซึ่งใช้กล้องจุลทรรศน์ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างค่าร้อยละของการจำแนกชนิดเม็ดเลือดขาวของเครื่อง CellaVision DM96 และค่าที่ได้จากวิธีมาตรฐานคือ 0.83 (นิวโตรฟิล) 0.86 (ลิมโฟซัยท์) 0.45 (โมโนซัยท์) 0.54 (อีโอสิโนฟิล) และ 0.30 (เบโซฟิล) สรุป จากข้อมูลเบื้องต้น ผลของเครื่อง CellaVision DM 96 มีความใกล้เคียงกับวิธีมาตรฐาน และสามารถลดภาระงานการนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาวในสเมียร์เลือดปกติได้ สำหรับการนำไปใช้ในทางคลินิกจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมจากตัวอย่างเลือดที่มีความผิดปกติ