การศึกษาเม็ดเลือดแดงซึ่งถูกย่อยด้วยเอนไซม์เพื่อใช้เป็นน้ำยาตรวจกรองและตรวจแยกชนิดแอนติบอดี
Keywords:
Enzyme, Stability, SpecificityAbstract
บทคัดย่อ เพื่อศึกษาความคงทน (stability) และความจำเพาะ (specificity) ของแอนติเจนหมู่เลือดบนผิวเม็ดเลือดแดงสำหรับตรวจกรองและตรวจแยกชนิดของแอนติบอดีซึ่งถูกย่อยด้วยเอนไซม์ papain วิธีการคือใช้ papain ย่อย screening cells และ panel cells ผลิตโดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ทดสอบความคงทนของแอนติเจน D, E, Jka ,P1, Lea และ Leb โดยให้ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีเจือจาง (two-fold dilution) ที่จำเพาะกับหมู่เลือดเพื่อหาความแรงของแอนติเจน ด้วยเทคนิคเจล (microcolumn agglutination technique) ทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ คิดความแรงเป็นคะแนน (score) เปรียบเทียบความแรงของแอนติเจนโดยใช้สถิติ Chi-square test และทดสอบความจำเพาะ ด้วยวิธีหลอดทดลอง (tube method) กับซีรัมที่ทราบชนิดแอนติบอดีที่มีความสำคัญทางคลินิก 140 ราย รวมทั้งทดสอบกับซีรัมของผู้บริจาคโลหิตในงานประจำวันจำนวน 680 รายเปรียบเทียบกับ screening cells ซึ่งถูกย่อยด้วยเอนไซม์ใหม่ประจำวัน ผลการศึกษาพบว่า ความคงทนของแอนติเจนแต่ละชนิดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) การทดสอบความจำเพาะในการตรวจกรองแอนติบอดีพบว่าให้ผลบวกจำนวน 82 ราย ใน 140 รายเมื่อนำไปตรวจแยกชนิดแอนติบอดีตรวจพบชนิดแอนติบอดีตรงกับประวัติเดิมซึ่งเป็นแอนติบอดีในระบบ Rh, Kidd, Diego, P และ Lewis ส่วนการตรวจกรองแอนติบอดีที่ให้ผลลบจำนวน 58 รายนั้น พบว่าเป็นแอนติบอดีในระบบ MNS และ Duffy แอนติเจนทั้งสองระบบนี้ถูกทำลายด้วย papain ได้ ทำให้ตรวจไม่พบแอนติบอดีในระบบดังกล่าว ส่วนการทดสอบกับซีรัมของผู้บริจาคโลหิตในงานประจำวันพบว่าการตรวจกรองให้ผลการทดสอบสอดคล้องกันโดยให้ผลลบจำนวน 567 ราย คิดเป็นร้อยละ 83.4 ให้ผลบวก 113 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.6
จากการศึกษานี้พบว่าน้ำยาเม็ดเลือดแดงสำหรับตรวจกรองและตรวจแยกชนิดของแอนติบอดีซึ่งได้ย่อยด้วยเอนไซม์ papain มีความคงทนของแอนติเจนตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์และมีความจำเพาะ สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จพร้อมใช้ได้