การประเมินประสิทธิภาพการปั่นแยกพลาสมาสำหรับการทดสอบการแข็งตัวของเลือดด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูง
Keywords:
Prothrombin time, Activated partial thromboplastin time, Platelet poor plasmaAbstract
บทนำ การรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ต้องมีผลตรวจ prothrombin time (PT), activated partial thromboplastin time (aPTT) ที่รวดเร็ว เพื่อใช้ประเมินก่อนการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด แต่วิธีมาตรฐานในการปั่นแยกพลาสมาสำหรับการทดสอบการแข็งตัวของเลือดใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาที ทำให้ระยะเวลารอคอยผลการตรวจนานและเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วย วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบวิธีการปั่นแยกพลาสมาสำหรับการทดสอบการแข็งตัวของเลือดด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูงกับวิธีมาตรฐาน สำหรับนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ผลการตรวจ PT, aPTT ที่ถูกต้อง รวดเร็ว วัสดุและวิธีการ ศึกษาพลาสมาของผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลเลิดสินจำนวน 80 ราย ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ.2555 เปรียบเทียบความแตกต่างของจำนวนเกล็ดเลือด, ค่า PT, INR, aPTT, potassium (K) และ lactate dehydrogenase (LDH) ในพลาสมาที่ปั่นแยกด้วยความเร็วรอบ 1,500 g นาน 15 นาที และ 7,000 g นาน 1 นาที ผลการศึกษาจากตัวอย่างเลือดผู้ป่วย 80 ราย เป็นผู้ที่ไม่ได้รับยากันเลือดแข็งจำนวน 40 ตัวอย่าง และผู้ที่ได้รับยากันเลือดแข็งจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่าจำนวนเกล็ดเลือด, ค่า PT, INR, aPTT, K และ LDH ไม่มีความแตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม (p > 0.05) สรุป การปั่นแยกพลาสมาด้วยความเร็วสูง 7,000 g นาน 1 นาที สามารถเตรียม platelet poor plasma ได้โดยไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และค่าการทดสอบ PT, aPTT ไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น หากนำวิธีการดังกล่าวไปใช้ในห้องปฏิบัติการ จะสามารถรายงานผล PT, aPTT ที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ