α-Glucosidase Inhibition of Thai Local Vegetable Extracts

Main Article Content

ภัทรา พวงช่อ
นาฏศจี นวลแก้ว

Abstract

แอลฟากลูโคซิเดสเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญต่อการย่อยแป้งและคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเอทานอล 80% ของผักพื้นบ้านไทยในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส ได้แก่ รากบัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.) ผลมะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa L.) ลูกฉิ้ง (F. botryocarpa Miq.) เปลือกแตงโม (Citrullus lanatus (Thunb.) Mastsum&Nakai) ผักเบี้ย (Portulaca oleracea L.) ใบกุ่มน้ำ (Crateva magna (Lour) DC) และผักบุ้ง (Ipomoea aquatic Forsk.) ซึ่งเป็นพืชที่รับประทานเป็นอาหารในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดลูกฉิ้งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 = 14.86 มคก./มล. รองลงมาคือมะเดื่ออุทุมพรและรากบัวหลวง มีค่า IC50 = 93 มคก./มล. และ IC50 = 4.21 มก./มล. ตามลำดับ แต่สารสกัดเปลือกแตงโม ผักเบี้ย กุ่มน้ำ และผักบุ้งไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากลูกฉิ้ง มะเดื่ออุทุมพร และรากบัว มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสได้ดีกว่า Acarbose ซึ่งเป็นยารักษาเบาหวาน (IC50 = 8.01 มก./มล.) ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าผักพื้นบ้านเหล่านี้มีแนวโน้มในการลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้โดยผ่านทางการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส

Article Details

Section
Appendix