การพัฒนาและประเมินสื่อให้ความรู้เรื่องการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับสตรีชาวไทใหญ่

Main Article Content

ภูริดา เวียนทอง
ภัสรา ภู่เจริญ
สวรรยา ปิ่นประทีป
อาภา งามปัญญา

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ปัจจุบันมีชาวไทใหญ่เข้ามาอาศัยและทำงานในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ประชากรกลุ่มนี้อ่านและเขียนภาษาไทยได้น้อย และเกิดปัญหาเมื่อต้องรับยาที่ต้องได้รับคำแนะนำอย่างละเอียดโดยเฉพาะการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสื่อให้ความรู้เรื่องการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นภาษาไทใหญ่ และประเมินผลการใช้สื่อที่พัฒนาขึ้น วิธีการ: วิธีการวิจัยเป็นแบบเชิงคุณภาพและกึ่งทดลอง โดยสัมภาษณ์สตรีชาวไทใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทใหญ่ และเภสัชกร รวม 8 รายเพื่อให้ได้รูปแบบและเนื้อหาของสื่อที่เหมาะสมกับความต้องการ เรียบเรียงเนื้อหาและส่งให้ผู้เชี่ยวชาญแก้ไข จากนั้นส่งให้ผู้เชี่ยวชาญแปลเป็นภาษาไทใหญ่ จัดทำสื่อในรูปแบบจุลสารแล้วทดลองให้สตรีชาวไทใหญ่จำนวน 5 ราย อ่านและทดสอบความเข้าใจเบื้องต้น แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและภาษาอีกครั้ง จากนั้นจึงนำไปให้กลุ่มตัวอย่างคือสตรีชาวไทใหญ่อายุ 18-35 ปีที่อาศัยในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 20 ราย ทดลองใช้สื่อที่พัฒนาขึ้น แล้วประเมินความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังได้รับสื่อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ Wilcoxon signed-rank test ผลการศึกษา: คะแนนความรู้ของกลุ่มตัวอย่างหลังจากได้รับสื่อเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนได้รับสื่ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (7.1+1.1 vs 3.5+0.8; p-value < 0.001) กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อสื่อโดยรวมอยู่ในระดับมาก คะแนนเฉลี่ย 4.15 (คะแนนเต็ม 5) ประเด็นที่พึงพอใจมากที่สุด 4 อันดับแรกคือ สื่อทำให้เข้าใจวิธีใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด สื่อทำให้เข้าใจวิธีปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา เนื้อหามีประโยชน์ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้จริง สรุปผล: สื่อให้ความรู้เรื่องยาเม็ดคุมกำเนิดภาษาไทใหญ่ในรูปแบบจุลสารที่พัฒนาขึ้นช่วยให้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น และได้รับการประเมินความพึงพอใจในระดับมาก การศึกษานี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาสื่อให้ความรู้เรื่องยาเป็นภาษาไทใหญ่ในประเด็นอื่นๆ ต่อไป

Article Details

Section
Appendix