การประเมินรูปแบบการใช้ยาบรรเทาอาการปวดและยาเสริมบรรเทาปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ณ โรงพยาบาลจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
บทนำ: ข้อมูลด้านภาพรวมของรูปแบบการใช้ยาบรรเทาอาการปวด (Analgesics) และยาเสริมบรรเทาปวด (Adjuvant drugs) ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งปัญหาการใช้ยาทั้งสองกลุ่มดังกล่าว มีค่อนข้างจำกัดในระดับโรงพยาบาลจังหวัด วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษารูปแบบการสั่งใช้ยาบรรเทาอาการปวดและยาเสริมบรรเทาปวด แนวโน้มการเกิดปัญหาการใช้ยา และความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการใช้ยากับข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ วิธีการ: ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง (Descriptive Study) ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง 30 กันยายน 2554 ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เก็บข้อมูลจากข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยนอกและฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ แบ่งกลุ่มการศึกษาเป็นสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) และ กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งได้รับยาชนิดรับประทานอย่างน้อยหนึ่งชนิดในกลุ่ม พาราเซตามอล NSAIDs, opioids และ/หรือ ยาในกลุ่ม Antidepressant, Anticonvulsant และ Benzodiazepines โดยใช้เกณฑ์ของ The Pharmaceutical Care Network Europe Classification V 6.2 (2010) ในการประเมินปัญหาการใช้ยาและสาเหตุ ผลการศึกษา: จากจำนวนผู้ป่วยกลุ่มผู้ใหญ่ (200 คน) และกลุ่มผู้สูงอายุ(200 คน) พบว่ามีการสั่งใช้ยารูปแบบ NSAIDs เดี่ยวมากที่สุด คือ 32.3% และ 33.0% ตามลำดับ และแนวโน้มการเกิดปัญหาการใช้ยาที่พบมากที่สุดในสองกลุ่มการศึกษา คือ ได้ผลการรักษาจากยาไม่พอ 54.3% และ 52.0% ตามลำดับ และสาเหตุที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ใหญ่ คือ ใช้ยาที่ขนาดต่ำเกินไป และช่วงระยะเวลาการให้ยาห่างเกินไป 24.7% ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ คือ ไม่มีการใช้ยาที่จำเป็นต้องใช้ร่วมเพื่อเสริมฤทธิ์หรือป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร และช่วงระยะเวลาการให้ยาห่างเกินไป 24.0% และในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่า อายุที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับจำนวนปัญหาการใช้ยาที่เพิ่มขึ้น (r = 0.185; p=0.019) ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าจำนวนยาบรรเทาอาการปวดมีความสัมพันธ์กับจำนวนปัญหาการใช้ยา (r=0.207; p=0.035) สรุปผล: การวิจัยครั้งนี้ทำให้เข้าใจภาพรวมของรูปแบบการใช้ยา ปัญหาการใช้ยาและสาเหตุของทั้งยากลุ่มบรรเทาอาการปวดและยาเสริมบรรเทาปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ซึ่งนำไปสู่แนวทางในการพัฒนางานบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมต่อไป
Article Details
In the case that some parts are used by others The author must Confirm that obtaining permission to use some of the original authors. And must attach evidence That the permission has been included