ความชุก และลักษณะผู้ป่วยพิการที่ควรได้รับการเยี่ยมบ้าน: กรณีศึกษาศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลยางตลาด

Main Article Content

กรรณิการ์ ฤทธิ์กลาง
จุฬารัตน์ ฮาดวิเศษ
ศุญาภัทร โกนจอหอ

Abstract

บทคัดย่อ
บทนำ: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การจัดบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพิการ และศึกษาความชุก และลักษณะของผู้พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวที่จำเป็นต้องได้รับการบริการเยี่ยมบ้าน วัสดุ และวิธีการทดลอง: เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา แบบภาคตัดขวาง ส่วนที่ 1 ศึกษาสถานการณ์การจัดบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพิการของศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลยางตลาด โดยการสัมภาษณ์ ผู้รับผิดชอบในกลุ่มงานเยี่ยมบ้าน และผู้รับผิดชอบงานเยี่ยมบ้านของศูนย์สุขภาพชุมชนภายใต้เขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลยางตลาด ในประเด็น 1) รูปแบบการดูแลผู้ป่วยพิการ; 2) รูปแบบการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพิการ; 3) การบันทึกข้อมูลเพื่อการติดตามดูแลผู้ป่วยพิการ; 4) ความเชื่อมโยงในการจัดบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพิการระหว่างหน่วยบริการ และ 5) ปัญหาอุปสรรค ส่วนที่ 2 ศึกษาความชุก และลักษณะของผู้พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวที่จำเป็นต้องได้รับการบริการเยี่ยมบ้าน โดยลงพื้นที่สำรวจ ณ บ้านของผู้พิการ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2554 เพื่อรวบรวมข้อมูลทั่วไป ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันโดยใช้เครื่องมือ Barthel Index ภาวะซึมเศร้า การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ มีผู้ป่วยพิการยินดีเข้าร่วมการศึกษา 105 คน ผลการศึกษา: พบว่ากลุ่มงานเยี่ยมบ้าน และศูนย์สุขภาพชุมชนเน้นเยี่ยมบ้านผู้พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวเป็นหลัก โดยเป็นหน้าที่หลักของทีมนักกายภาพ ลงเยี่ยมบ้านผู้พิการตามรายชื่อจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมสำรวจหาผู้พิการรายใหม่ นอกจากนี้ มีการบันทึกข้อมูลการเยี่ยมบ้านลงในแบบฟอร์มการเยี่ยมบ้าน (Home Health Care Visit Form) มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างกลุ่มงานเยี่ยมบ้าน ศูนย์สุขภาพชุมชน และโรงพยาบาล ความชุกของผู้พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวของตำบลยางตลาดมีร้อยละ 2 (144 คน) จากทั้งหมด 340 คน และจากการลงพื้นที่สำรวจจำนวน 105 คน พบว่ามีผู้ป่วยพิการที่จำเป็นต้องได้รับการเยี่ยมบ้านเนื่องจากมีความรุนแรงของปัญหามากที่สุด มีร้อยละ 5.7 (6 คน) โดยมีลักษณะคือ ผู้ป่วยพิการที่สูญเสียความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อน มีภาวะซึมเศร้า และไม่มีผู้ดูแล สรุปผล: กลุ่มผู้ป่วยพิการที่จำเป็นต้องได้รับการเยี่ยมบ้านมีประมาณร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม หากหน่วยบริการมีบุคลากรที่เพียงพอ อาจขยายกิจกรรมดังกล่าวไปสู่ผู้ป่วยพิการทางกายและการเคลื่อนไหวที่มีปัญหาในลำดับรองลงมา

Article Details

Section
Appendix