ความชุกและลักษณะของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการเยี่ยมบ้าน: กรณีศึกษาศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาล ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

Main Article Content

ศรีประภา จันทร์ศรีเมือง
ภาวินี วารีขัน
สุวนิตย์ โพธิ์ชา
มนสิชา ทรงเรณู

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ความเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศประเทศไทย ซึ่งคาดว่าโรคไม่ติดต่อที่จะเป็นปัญหาในอนาคต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและลักษณะของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการบริการเยี่ยมบ้านในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ทดลอง: การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Descriptive cross - sectional study) โดยประชากร คือ ผู้ที่มีภาวะโรคเรื้อรัง และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์หน่วยบริการปฐมภูมิ  โรงพยาบาลยางตลาด  อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  ตามเกณฑ์การคัดเลือก คือ เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่มีประวัติไม่มาตามนัดหรือขาดนัด  มีประวัติการเข้าห้องฉุกเฉินหรือเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคที่เป็น รวมทั้งหมด 603 คน แล้วสุ่มแบบมีจุดมุ่งหมายหรือจงใจ (Purposive Sampling) เพื่อลงสำรวจข้อมูลที่บ้านผู้ป่วยที่ยินยอมเข้าร่วมการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 143 คน และเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม  และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษา: ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหมด 143 คน เป็นเพศหญิงร้อยละ 87.6 โรคที่พบได้แก่ ความดันโลหิตสูงร่วมกับเบาหวาน (ร้อยละ 41.9) และเบาหวานอย่างเดียว (ร้อยละ 40.5) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งที่มีและไม่มีโรคร่วมมีระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ไม่เหมาะสมร้อยละ 41.9  ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งที่มีและไม่มีโรคร่วมมีระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ไม่เหมาะสมร้อยละ 39.8    ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมี 1 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินคิดเป็นร้อยละ 0.7 เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้น  พบว่าผู้ป่วยทั้งหมดมีผู้ดูแล 82 คน (ร้อยละ 57.3)  ไม่มีผู้ดูแลและควบคุมโรคไม่ได้ร้อยละ 27.3  นอกจากนี้พบว่ามีผู้ป่วยที่มารับการรักษาไม่ต่อเนื่องและไม่สามารถควบคุมโรคได้คิดเป็นร้อยละ 23.1 พบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาในการประกอบกิจวัตรประจำวันจำนวน 5 คน (ร้อยละ 3.5) ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีผู้ดูแลอยู่แล้วแต่มี 3 คนจากจำนวนดังกล่าวที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้  สรุปผล: ผู้ป่วยที่ควรได้รับการเยี่ยมบ้าน มีร้อยละ 7.0 (N=10)  โดยกลุ่มมีลักษณะปัญหาดังนี้ 1) เป็นผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษาที่ใดเลย คิดเป็นร้อยละ 3.5 (N=5); 2) มีปัญหาช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถควบคุมโรค ผู้ดูแลไม่มีความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับโรคและการรักษาของผู้ป่วยคิดเป็นร้อยละ 2.1 (N=3) และ3) มีปัญหาช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน ผู้ดูแลไม่มีความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับโรคและการรักษาของผู้ป่วย  แต่สามารถควบคุมโรคได้ คิดเป็นร้อยละ 1.4 (N=2)

Article Details

Section
Appendix