การบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลแก้งสนามนาง อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา

Main Article Content

ปาจรีย์ สร้อยศรีฉาย

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ : เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ระบบการสื่อสาร และการโฆษณา ได้ส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อการบริโภคของคนไทย ในปัจจุบันพบปัญหาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจำนวนมาก วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการบริโภคและวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวาน วิธีการวิจัย: การวิจัยเชิงวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต.แก้งสนามนาง อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา ทุกคนที่มารับบริการในโรงพยาบาลแก้งสนามนาง ยินยอมสมัครใจให้ความร่วมมือในการศึกษา และไม่มีความบกพร่องในด้านการรับรู้และสามารถสื่อสารภาษาไทยเข้าใจ เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป แบบทดสอบความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา ทดสอบความเชื่อมั่นแบบทดสอบความรู้และทัศนคติ โดยวิธีอัลฟาของครอนบราค เท่ากับ 0.59 และ 0.88 ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 8.00-12.00 น. รวมทั้งหมด 57 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติวิเคราะห์ได้แก่การทดสอบไคสแควร์ ผลและสรุปผล: กลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมด 57 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 73.7, มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 86.0, อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 61.4, มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 43.9 และมีโรคอื่นที่เป็นร่วม ร้อยละ 80.7 ซึ่งโรคอื่นที่เป็นร่วมมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 64.9) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับทราบและเข้าถึงข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร้อยละ 98.2 ซึ่งสื่อโฆษณาในการเข้าถึงข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมากที่สุดคือ วิทยุ ร้อยละ 96.5, ระดับความรู้อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 38.6 และระดับทัศนคติอยู่ในระดับดี ร้อยละ 47.4 กลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 17.5, ผลิตภัณฑ์ที่บริโภคส่วนใหญ่คือน้ำผลไม้ที่อ้างสรรพคุณรักษาโรค ร้อยละ 7.0, ระยะเวลาการบริโภค 1 – 6 เดือน ร้อยละ 14.0, ราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่บริโภค 2,000 – 5,000 บาท ร้อยละ 7.0, แหล่งจำหน่ายซื้อจากตัวแทนขายตรง ร้อยละ 5.3, การตัดสินใจบริโภคตัดสินใจด้วยตนเอง ร้อยละ 7.0, การรับรู้ข่าวสารผ่านทางตัวแทนขายตรง ร้อยละ 7.0, ผลการบริโภคผลิตภัณฑ์ได้ผลเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10.5, มีแนวโน้มหยุดบริโภคในอนาคต ร้อยละ 8.8 เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พบว่า ระดับทัศนคติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของบุคคลในครอบครัวของกลุ่มตัวอย่าง มีความสัมพันธ์กับการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ดังนั้นควรให้ความรู้และปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแก่ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย และควรปลูกฝังจริยธรรมแก่ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เหมาะสม

Article Details

Section
Appendix