เหตุใดบุคลากรทางการแพทย์ ไม่รายงาน ความคลาดเคลื่อนทางยา: กรณีศึกษาโรงพยาบาล ประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

Main Article Content

เปรมวดี ศิริวิวัฒนานนท์
มณีรัตน์ รัตนามหัทธนะ

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: การรายงานความคลาดเคลื่อนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการสุขภาพ  บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน จำเป็นต้องเรียนรู้ในการตรวจจับ เข้าใจในระบบการรายงาน และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สาเหตุและจัดการเชิงระบบเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่พบตามมาในระบบการป้องกันนี้คือ ปัญหาการไม่รายงานหรือรายงานน้อยกว่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจริงทำให้ข้อมูลที่เก็บได้ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตรงกับความเป็นจริง การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเหตุผลที่บุคลากรทางการแพทย์แต่ละวิชาชีพไม่รายงานเมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาขึ้น  วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นโดยดัดแปลงจากเครื่องมือของ Vincent et al. กลุ่มตัวอย่างจำนวน 196 คน ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแพทย์ และเภสัชกร ใช้ประชากรทั้งหมดส่วนพยาบาลได้จากการสุ่มตัวอย่างตามสัดส่วนที่มีอยู่จริง โดยจัดกลุ่มหอผู้ป่วยตามลักษณะงาน ประเภทของยาที่ใช้ และวิถีการบริหารยา  การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณาโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนและร้อยละ  ผลการศึกษา: พบว่าเหตุผลหลักที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่รายงานเมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาขึ้นได้แก่ การมีภาระงานมากทำให้ลืมที่จะรายงาน (X±SD; แพทย์=2.82±1.47, เภสัชกร=3.77±1.11,พยาบาล=3.54±1.09) การไม่อยากถูกกล่าวพาดพิงถึงอีกยาวนาน (X±SD; แพทย์=2.65±1.32, เภสัชกร=2.77±1.31, พยาบาล=3.33±1.25) และการกลัวถูกตำหนิอย่างไม่ยุติธรรมหากเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า (X±SD; แพทย์=2.35±1.50, เภสัชกร=2.65±1.16, พยาบาล=2.87±1.30) ทั้งนี้แพทย์มีเหตุผลที่ต่างไปจากเภสัชกรและพยาบาล คือไม่ได้กลัวถูกตำหนิ แต่ไม่ทราบว่าใครควรเป็นผู้รายงาน (X±SD; แพทย์=2.71±1.40, เภสัชกร=2.08±0.80, พยาบาล=1.03±1.03)  สรุปผลการศึกษา: จากผลการศึกษานี้ทำให้เห็นว่าควรมีการพัฒนาเชิงระบบของโรงพยาบาล เพื่อสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมในองค์กรที่สร้างสรรค์ ไม่กล่าวโทษคนผิด รวมทั้งพัฒนาระบบการรายงานให้เอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการรายงานความคลาดเคลื่อนทางยา เช่น การรายงานไม่ต้องระบุชื่อผู้รายงาน ทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์ในเรื่องระบบการรายงาน ผู้รายงาน เป็นต้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยต่อไป

Article Details

Section
Appendix