การประเมินความเสี่ยงของ Bisphenol A (BPA) ในขวดนมเลี้ยงเด็กทารก

Main Article Content

กรรนิการ์ ฉัตรสันติประภา
ศิขรินทร์ ศรีหาญ
รุ่งทิพย์ นวะโคกศรี

Abstract

บทคัดย่อ


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการรับสัมผัสสาร Bisphenol A (BPA) ของทารกจากขวดนมโดยการสุ่มขวดนมที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยมา 6 ยี่ห้อจากแหล่งขายต่างๆกัน ยี่ห้อละ 2-4 ขวดขึ้นกับจำนวนที่หาซื้อได้ วิเคราะห์โดยชงขวดนมแต่ละขวดด้วยน้ำกลั่น 30 มล.ที่อุณหภูมิห้อง, 40°C, 70°C, 100°C เลียนแบบการชงนมผง นำน้ำนั้นไป lyophylysed แล้วละลายใหม่ด้วย 1 มล. Mobile phase ของ High Performance Liquid Chromatography (HPLC) แล้ววิเคราะห์ด้วย HPLC, UV detector การทดสอบมาตรฐานของวิธีวิเคราะห์ ได้ตรวจสอบสมรรถนะในการแยกความแตกต่างของโครมาโตแกรมของสาร (Selectivity) ความสัมพันธ์เชิงเส้น (Linearity ได้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.9981 เมื่อความเข้มข้น  0.5 μg/ml - 80 μg/ml) ขีดจำกัดในการตรวจหา (Limit of Detection, LOD) เท่ากับ 0.05 µg/ml ขีดจำกัดในการวัดปริมาณ (Limit of Quantitation, LOQ) เท่ากับ 0.5 µg/ml การทดสอบความถูกต้อง (Accuracy) ความเที่ยง (Precision)  ค่ากลับคืน (%recovery ที่ความเข้มข้น 125 µg/ml ได้ร้อยละ 88.29 - 90.61) และการทวนซ้ำ (repeatability แสดงด้วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสัมพัทธ์ของการทวนซ้ำ %RSDr เท่ากับร้อยละ 0.62-1.52)  จากการวิเคราะห์พบว่าขวดนมทั้ง 5 ยี่ห้อ ไม่พบหรือมีปริมาณ BPA น้อยมากหรือต่ำกว่าขีดจำกัดในการวัดปริมาณ มีเพียง 1 ยี่ห้อที่พบ BPA ปริมาณ 6.61±0.26 และ 11.27 ± 1.51 mg จากน้ำชง 30 มล.ที่อุณหภูมิ 40°C และ 70°C ตามลำดับ เนื่องจากขวดนมยี่ห้อนี้มีเพียง 2 ขวด จึงเลือกทดสอบกับน้ำอุณหภูมิ 40°C และ 70°C เพื่อเป็นตัวแทนน้ำอุ่นและน้ำร้อนซึ่งเป็นอุณหภูมิที่มักถูกเลือกใช้กันทั่วไป แม้ว่าเมื่อน้ำชงมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้ BPA หลุดออกมามากขึ้นในการใช้ขวดเป็นครั้งแรก แต่ในครั้งต่อๆไปปริมาณ BPA ที่ตรวจพบในทุกยี่ห้อจะลดลงเรื่อยๆและใน 2 ขวดนี้จะลดลงจนต่ำกว่าขีดจำกัดในการวัดปริมาณหลังจากชงน้ำอุณหภูมิเดิม 4 ครั้ง แสดงว่าในทุกขวดจะมี BPA ในจำนวนจำกัดเท่านั้น เมื่อคำนวณปริมาณรับสัมผัส BPA ต่อวันในกรณีเลวร้ายที่สุดที่เราตรวจเจอสำหรับทารกเกิดใหม่หนัก 3000 กรัมดื่มนมชง 540 มล.ต่อวัน จะได้ 58.56-76.67 ไมโครกรัม/กก./วัน (daily exposure dose, DED) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปลอดภัยคือ Tolerable Daily Intake (TDI) สำหรับ BPA จะพบว่าค่า margin of safety หรือ MOS (=TDI/DED) เท่ากับ 0.65-0.85 นั่นคือ ค่าที่ปลอดภัยน้อยกว่าปริมาณรับสัมผัส (DED) สรุปว่าทารกที่บริโภคนมจากขวดเหล่านี้มีความเสี่ยงอันตรายจากการรับสัมผัส BPA ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine disrupting chemical) โดยเฉพาะเมื่อใช้ขวดนมนั้นเป็นครั้งแรกและใช้น้ำชงอุณหภูมิสูง อย่างไรก็ตาม ขวดนมที่ตรวจพบสาร BPA เป็นยี่ห้อเดียวจากที่ตรวจทั้งหมดที่ไม่มีเลขมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยติดอยู่ แสดงว่าแม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้ห้ามการใช้ขวดที่มี BPA อย่างเป็นทางการแต่ขวดประเภทนี้ก็เหลืออยู่น้อยมากในท้องตลาดและเป็นขวดที่ไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้ปกครองจึงควรเลือกใช้เฉพาะขวดที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยของทารก

Article Details

Section
Appendix