การประเมินความรู้ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ณ โรงพยาบาลอุดรธานี

Main Article Content

ปภาวี พิมพ์ทอง
เกษราภรณ์ เยาวะพันธ์
ชัยณรงค์ เบ้ารักษา
สุธาร จันทะวงศ์

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ในปัจจุบันยังมีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รวมไปถึงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาและแนวทางการจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว ผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยนี้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ณ โรงพยาบาลอุดรธานี  วัตถุประสงค์: เป็นการศึกษานำร่องเพื่อประเมินความรู้ของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยใช้แบบประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด วัสดุและวิธีการ: การศึกษาเชิงสำรวจ (Survey research) แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) ในผู้ป่วยมะเร็ง 100 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจากแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของโรงพยาบาลอุดรธานี โดยใช้แบบประเมินจำนวน 20 ข้อ คะแนนเต็ม 20 คะแนน ครอบคลุมความรู้ 3 ด้าน ได้แก่ โรคมะเร็งและการใช้ยาเคมีบำบัด (คะแนนเต็ม 4 คะแนน) อาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด (คะแนนเต็ม 6 คะแนน)  และการจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) ผลการศึกษา: ผู้ป่วยมีคะแนนความรู้เฉลี่ยรวมทั้ง 3 ด้านและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 15.49±2.56 คะแนน (77.45%) ซึ่งแบ่งเป็นด้านโรคมะเร็งและการใช้ยาเคมีบำบัด ด้านอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด และด้านการจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด เท่ากับ 3.36±0.64 (84%), 4.53±1.17 (75.5%) และ 7.6±1.60 (76%) คะแนนตามลำดับ สรุปผล: จากการประเมินความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยภาพรวมผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังคงมีคะแนนความรู้เฉลี่ยรวมด้านอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัดน้อยกว่าด้านอื่นๆ จึงควรมีการส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยในด้านนี้เพิ่มขึ้น

Article Details

Section
Appendix