สถานการณ์และปัญหาอุปสรรคการใช้ยาสมุนไพร ในโรงพยาบาลของรัฐ

Main Article Content

พนิดา โนนทิง
สุวิชชา เจริญพร
น้องเล็ก คุณวราดิศัย
แสวง วัชระธนกิจ
อนุวัฒน์ วัฒนพิชญากูล

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐมาหลายปี แต่สัดส่วนมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาก การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ของการใช้ยาสมุนไพร ปริมาณ และรายการยาสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐ และวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาสมุนไพรในมุมมองของเภสัชกรและแพทย์แผนไทย วิธีการศึกษา: การเก็บรวมรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามให้ตอบเองโดยการส่งทางไปรษณีย์ไปยังโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 538 แห่ง แห่งละ 2 ชุด ได้รับการตอบกลับ 139 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25.8 ตรวจสอบความสมบูรณ์แล้วได้กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม 181 คน เป็นเภสัชกร 78 คน แพทย์แผนไทย 103 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และ การวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้น (Linear Regression analysis) ผลการศึกษา: พบว่าโรงพยาบาลมีรายการยาสมุนไพรเฉลี่ย 16.06 รายการ เป็นยาสมุนไพรเดี่ยวรูปแบบแคปซูลมากที่สุดเฉลี่ย 4.15 รายการ รองลงมาเป็นยาใช้ภายนอกเฉลี่ย 3.55 รายการ และยาชงสมุนไพรเฉลี่ย 2.14 รายการ  จำนวนรายการยาไม่เพียงพอต่อการใช้รักษาโรคต่าง ๆ ยาสมุนไพรที่ใช้ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.80 ซื้อจากองค์การเภสัชกรรม ร้อยละ 79.50 ซื้อจากบริษัทเอกชน ร้อยละ 48.70 เป็นการผลิตเองในโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลที่ทำการผลิตมีเพียงร้อยละ 26.90 ส่วนที่เคยผลิตแต่เลิกผลิตแล้วมีร้อยละ 16.70 นอกนั้นร้อยละ 56.40 ไม่เคยมีการผลิต ร้อยละ 50.00 ของโรงพยาบาลมีการใช้ยาสุมนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน100% โดยมีรายการยาเฉลี่ย 1.27 รายการ และร้อยละ 76.90 มีการใช้ยาสมุนไพรเสริมหรือทดแทนยาแผนปัจจุบันบางส่วน โดยมีรายการยาเฉลี่ย 3.46 รายการ โรงพยาบาลต่างๆมีสัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรเทียบกับยาแผนปัจจุบันในปี 2555 มีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.88 สูงกว่าปี 2554 ที่มีค่าเฉลี่ย ร้อยละ 2.55 แต่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดที่ ร้อยละ 5-10 โรงพยาบาลส่วนใหญ่ร้อยละ 61.50 มีแนวโน้มของสัดส่วนเมื่อเทียบกับปี 2554 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้แพทย์แผนไทยร้อยละ 79.60 จะมีสิทธิ์ทำการตรวจวินิจฉัยโรคและสั่งใช้ยาสมุนไพรให้ผู้ป่วย แต่การสั่งใช้ยาสมุนไพรส่วนใหญ่ร้อยละ 97.40 เป็นผลจากแพทย์แผนปัจจุบันสั่งใช้ และร้อยละ 78.20 เป็นความต้องการของผู้ป่วย ปัญหาอุปสรคสำคัญของการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร คือ การมีรายการยาสมุนไพรน้อย โรงพยาบาลไม่มีมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลอย่างจริงจัง แพทย์แผนไทยไม่ได้ทำการตรวจรักษาโรคและสั่งจ่ายยา ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อสัดส่วนมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรเทียบกับยาแผนปัจจุบันอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น (p<0.05) คือ ทัศนคติต่อด้านนโยบายและบทบาทของโรงพยาบาล ทัศนคติต่อด้านนโยบายการส่งเสริมการใช้สมุนไพร และการผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาล สรุปผลการศึกษา: แม้ว่าแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรของโรงพยาบาลของรัฐจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มไม่มากนัก อุปสรรคสำคัญ คือ นโยบายของโรงพยาบาล ทัศนคติต่อนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร รายการยาสมุนไพร บทบาทของแพทย์แผนไทย ข้อเสนอแนะต่อการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร คือ โรงพยาบาลควรมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน บุคลากรควรมีทัศนคติเชิงบวกเอื้อต่อนโยบายการใช้ยาสมุนไพร ควรจัดให้มีรายการยาสมุนไพรและการผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลมากขึ้น และเพิ่มบทบาทแก่แพทย์แผนไทยในการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาด้วยยาสมุนไพร

Article Details

Section
Appendix