บทบาทเภสัชกรและบุคลากรสาธารณสุขกับการพัฒนางาน แพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐ

Main Article Content

ธีระยุทธ วงค์ชัย
ปาณิศา ภุมรินทร์
สุรัชฎาพรรณ อินทพรม
แสวง วัชระธนกิจ
อนุวัฒน์ วัฒนพิชญากูล

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: แม้ว่างานแพทย์แผนไทยจะถูกบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ แต่งานแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคของการพัฒนางานการแพทย์แผนไทย และบทบาทของเภสัชกรและและบุคลากรสาธารณสุขแผนปัจจุบันอื่นๆต่อการพัฒนางานแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลรัฐ วิธีการศึกษา: งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ เลือกศึกษาอย่างเจาะจงกับโรงพยาบาลของรัฐที่มีขนาดต่างกันจำนวน 6 แห่ง  ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเภสัชกร พยาบาลวิชาชีพและนักการแพทย์แผนไทยที่รับผิดชอบงานการแพทย์แผนไทย จำนวน 10 คน ด้วยเค้าโครงคำถามเชิงลึกที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นในประเด็น รูปแบบการจัดบริการ ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนา และบทบาทของบุคลากรต่างๆในงานแพทย์แผนไทย ในช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ -31 ตุลาคม 2555 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการพรรณา แจกแจง แยกประเด็นเชิงเนื้อหาและเปรียบเทียบ ผลการศึกษา: พบว่า งานแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งมีแนวโน้มพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ทั้งส่วนให้บริการและการผลิต  มีบุคลากรและมีการบริการที่หลากหลายมากขึ้น แต่พัฒนาการดังกล่าวมีความเหลื่อมล้ำกันในแต่ละโรงพยาบาล  บางแห่งมีศักยภาพสูงในการผลิตยาสมุนไพรเพื่อใช้ในโรงพยาบาลและส่งจำหน่าย บางโรงพยาบาลยังมีพัฒนาการที่ล่าช้าทั้งด้านกิจกรรมบริการ กำลังคนและอาคารสถานที่ ปัญหาสำคัญของงานแพทย์แผนไทยคือ ระบบสนับสนุนการปฏิบัติงาน เช่น รายการยาสมุนไพร จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ สถานที่ไม่เหมาะสม ข้อจำกัดในด้านบทบาท ตำแหน่งของนักการแพทย์แผนไทย นโยบายและการให้ความสำคัญของผู้บริหาร  เภสัชกรและและบุคลากรสาธารณสุขแผนปัจจุบันอื่นๆ ที่ดูแลงานการแพทย์แผนไทยที่มีบทบาทเชิงรุกมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนางาน เช่น การพัฒนาระบบการให้บริการ การเก็บข้อมูลผลงานอย่างเป็นระบบเพื่อการสร้างสรรค์และผลักดันการพัฒนางานแพทย์แผนไทย และการพัฒนามาตรฐานการผลิตยาสมุนไพร ส่วนผู้ที่มีบทบาทเชิงรับที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น การทำตามนโยบาย มีภาวะนิ่งเฉยไม่บริหาร ไม่คิดริเริ่มพัฒนา ไม่เข้าใจการแพทย์แผนไทยอย่างแท้จริง การเป็นหัวหน้าในนามและไม่สนับสนุนการพัฒนา สรุปผลการศึกษา: พัฒนาการและอุปสรรคของงานการแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐขึ้นกับนโยบายของผู้บริหาร ระบบสนับสนุนต่างๆ และบทบาทของบุคลากรที่กำกับดูแลงานแพทย์แผนไทย ข้อเสนอแนะคือ การพัฒนางานแพทย์แผนไทยควรอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจการแพทย์แผนไทย โดยควรเปิดโอกาสให้นักการแพทย์แผนไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้ถูกทิศทางตามหลักการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

Article Details

Section
Appendix