พฤติกรรมการใช้บริการนวดแผนไทยในสถานบริการของรัฐและเอกชน เขตเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

ณรงค์รัชช์ สรรพทวีบูรณ์
เธียรวิชญ์ เมืองซำ
มานิตา แก้วลายทอง
อนุวัฒน์ วัฒนพิชญากูล

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้บริการนวดแผนไทยในสถานบริการของรัฐและเอกชนยังมีไม่มากการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการ เหตุผลในการเลือกใช้บริการ ความพึงพอใจที่มีต่อสถานบริการนวดแผนไทย และวิเคราะห์ปัจจัยทางประชากรต่อการใช้บริการนวดแผนไทยของรัฐและเอกชน วิธีการศึกษา: ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูล เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มโดยบังเอิญ จำนวน 322 คน จากสถานบริการของรัฐและเอกชน 10 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา Chi – Square test และ Independent t-test ผลการศึกษา: พบว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ร้อยละ 54.6 มานวดมากกว่า 3 ครั้ง/เดือน ร้อยละ 69.1 ชอบนวดทั้งตัว ร้อยละ 75.8 ชอบนวดทั้งแบบราชสำนักและเชลยศักดิ์ ร้อยละ 54.5 ชอบนวดกับหมอผู้หญิง ร้อยละ 67.4 มีเป้าหมายหลักในการนวดเพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาการที่ทุเลา/ดีขึ้นมากที่สุด คือ ปวดหลัง ปวดเอว และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหตุผลหลักที่มาใช้บริการในสถานบริการของรัฐ คือ ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และหมอเก่ง/รู้เส้น ส่วนเหตุผลหลักของเอกชน คือ หมอเก่ง/รู้เส้น และใกล้บ้าน  ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการที่มีต่อสถานบริการของรัฐ คือ การให้สิทธิในการเบิกจ่ายตรงของข้าราชการ บริการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข หมอนวดรู้เส้น รู้ใจลูกค้า ส่วนความพึงพอใจของผู้ใช้บริการที่มีต่อสถานบริการของเอกชน คือ มีสื่อประชาสัมพันธ์ มีหลายราคาให้เลือก  และมีคนรู้จักแนะนำหรือบอกต่อ  ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการใช้บริการสถานบริการของรัฐ(137.1บาท)และเอกชน(351.8บาท) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อวิเคราะห์ด้วย Independent t-test ผู้ใช้บริการที่เป็นเพศหญิง อายุ 41-60 ปี  เป็นข้าราชการ มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และอยู่ห่างไกลสถานบริการ มีแนวโน้มใช้บริการของรัฐมากกว่า ส่วนผู้ใช้บริการที่เป็นเพศชาย อายุ 20-40 ปี มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และอยู่ใกล้สถานบริการ จะใช้บริการของเอกชนมากกว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) สรุปผลการศึกษา: การนวดเป็นแบบแผนการดูแลสุขภาพที่ให้ผลในทางการบำบัดอาการและส่งเสริมสุขภาพ เหตุจูงใจในการมาใช้บริการนวดแผนไทยของรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกัน ลักษณะทางประชากรของผู้ใช้บริการของสถานบริการรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกัน  สถานบริการของรัฐมีมาตรการจูงใจแก่กลุ่มที่มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ผู้ที่มีหลักประกันอื่นจึงหันไปใช้สถานบริการเอกชนมากกว่า ข้อเสนอแนะ สถานบริการของรัฐควรเพิ่มมาตรการจูงใจผู้ใช้บริการนอกกลุ่มข้าราชการด้วย และช่วยส่งเสริมมาตรฐานบริการของเอกชนให้ใกล้เคียงกับของรัฐ

Article Details

Section
Appendix