ผลลัพธ์การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคหืด คลินิกโรคหืดอย่างง่าย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

Main Article Content

ทวีศักดิ์ ขำพุก
อารยา วิฑิตพงษ์วนิช
เอกพล เอกเศวตอนันต์
พัชรี กาญจนวัฒน์
พีรวัฒน์ จินาทองไทย
แสวง วัชระธนกิจ

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานคลินิกโรคหืดอย่างง่าย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยเภสัชกรเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความรู้เรื่องโรค การรักษา แนะนำและตรวจสอบการใช้ยา อาจมีผลต่อผลลัพธ์ของการดูแลผู้ป่วยโรคหืด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลลัพธ์การบริบาลผู้ป่วยโรคหืดก่อนและหลังการบริบาลทางเภสัชกรรมและทบทวนการสั่งใช้ยาโรคหืด  วิธีดำเนินงานวิจัย: รวบรวมข้อมูลทั่วไป ยาที่ได้รับ และผลการควบคุมโรคหืดจากเวชระเบียนและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2552 – กันยายน 2555 วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบผลลัพธ์การรักษาหลังการได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมโดย McNemar’s test  ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างจำนวน 142 คน เป็นเพศหญิงร้อยละ 64.08  อายุเฉลี่ย 55.25±1.37 ปี สัดส่วนผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอาการได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.50 เป็น 15.60 และ 16.67 หลังจากการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ  สัดส่วนผู้ป่วยที่ 1) เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากเดิมร้อยละ 20.45 เป็น 4.55 (p<0.05)  2) เข้านอนโรงพยาบาลลดลงจากเดิมร้อยละ 15.91 เป็น 4.55 (p<0.05) สรุปผล: ผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมสามารถควบคุมอาการหืดได้เพิ่มขึ้น เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินและเข้านอนโรงพยาบาลลดลง ดังนั้นเภสัชกรควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดในคลินิกโรคหืดอย่างง่าย

Article Details

Section
Appendix