ค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลจังหวัด

Main Article Content

ภัสรา ทองไทย
ภัทรา น้อยสุวรรณกิจ
สุชาดา ทิคะชน
สุรศักดิ์ ไชยสงค์
ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้มากในหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามมา การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนในโรงพยาบาลจังหวัด ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาในผู้ป่วยหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับการวินิจฉัยหลักตาม ICD-10 รหัส M80, M81, M82 ในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โรงพยาบาลมหาสารคาม ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2554 เก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายทางตรงทางการแพทย์ ได้แก่ ค่ายา ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าตรวจทางรังสี ค่าวัสดุและเวชภัณฑ์ ค่าทำหัตถการ และค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยนอก 115 คน และผู้ป่วยใน 21 คน ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี สำหรับแผนกผู้ป่วยนอก การเข้ารับบริการเฉลี่ย 3.64 ครั้ง/ปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,678.80 บาท/ครั้ง หรือ 6,110.85 บาท/ปี โดยส่วนใหญ่เป็นค่ายา (ร้อยละ 80.17) สำหรับแผนกผู้ป่วยในวันนอนเฉลี่ย 6.91 วัน ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาจากกระดูกต้นขาหัก (ร้อยละ 71.43) ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,036.08 บาท/วัน หรือ 20,979.33 บาท/ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ (ร้อยละ 71.40)  สรุปผล: ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในการรักษากระดูกหักเป็นค่าใช้จ่ายที่แพง ดังนั้นควรส่งเสริมการป้องกันกระดูกหักในผู้ป่วยกระดูกพรุนวัยหลังหมดประจำเดือนเพื่อลดปัญหาและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

Article Details

Section
Appendix