ผลของการใช้โปรแกรมควบคุมน้ำหนักที่เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในประชาชนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วน

Main Article Content

ปาริชาต ลิมปิกาญจนโกวิท
กานต์ชนก สุรนาถ
สุธนีกาญจน์ ศุภพณิชกุล
อภิวัฒน์ นาคเงิน
วิระพล ภิมาลย์
ภัทรพล เพียรชนะ

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ : ปัจจุบันภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนพบมากในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักจึงเป็นสิ่งสำคัญ


วิธีวิจัย : การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Randomized Controlled Trial) เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมควบคุมน้ำหนักโดยเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วน ในจังหวัดมหาสารคามในระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2554  ถึง มกราคม พ.ศ. 2555 ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ทั้งสองกลุ่มจะถูกวัดความตั้งใจในการลดน้ำหนักทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมงานวิจัยและกลุ่มทดลองจะได้รับคำแนะนำแบบรายบุคคลในด้านความรู้เรื่องการควบคุมน้ำหนัก คู่มือแสดงพลังงานและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร การบันทึกกิจกรรมและอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจำนวน 3 ครั้งเป็นระยะเวลา 2 เดือน


ผลการศึกษา : มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 66 ราย อายุ 40-80 ปี (อายุเฉลี่ย 59.61 + 10.30  ปี) หลังจากได้รับคำแนะนำแล้วกลุ่มทดลองคะแนนความรู้เรื่องโรคอ้วน โภชนาการเพิ่มมากกว่ากลุ่มควบคุม (p<0.05) กลุ่มทดลองมีการลดลงของความยาวรอบเอว น้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย มากกว่ากลุ่มทดลองแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในด้านความตั้งใจในการลดน้ำหนักตัวพบว่ากลุ่มทดลองมีความเชื่อต่อการลดน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นหลังจากได้รับคำแนะนำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)


สรุปผล : ผลการให้คำแนะนำและติดตามพฤติกรรมการควบคุมน้ำหนักในประชาชนสามารถเพิ่มความรู้และความตั้งใจในการลดน้ำหนักได้แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักและดรรชนีมวลกายได้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการติดตามศึกษากลุ่มเป้าหมายระยะยาวต่อไป เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนตามแนวทางการรักษาโรคอ้วนของ NHBL Guideline

Article Details

Section
Appendix