ผลการคัดกรองและการให้คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ร้านยาคุณภาพในจังหวัดมหาสารคาม

Main Article Content

พิมพ์สวรรค์ จั่นแก้ว
เมธา สีเชียงสา
อภิญญา ปานเจริญศักดิ์
อิสรีญา วีริยาสรร
พยอม สุขเอนกนันท์
พรชนก ศรีมงคล
ธีระพงษ์ ศรีศิลป์

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ในปัจจุบันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และทำให้เกิดการเสียชีวิต   วิธีวิจัย: ดำเนินการวิจัยที่ร้านยาคุณภาพ 4 แห่งในจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ 1) การวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อประเมินผลการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่มารับบริการที่ร้านยาคุณภาพในจังหวัดมหาสารคาม 2) One group pretest–posttest  เพื่อประเมินผลการให้คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพโดยนิสิตเภสัชศาสตร์ในร้านยาแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย ระดับความดันโลหิตเฉลี่ย คะแนนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ  ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการคัดกรองทั้งหมด 156 ราย พบผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน 8 ราย (ร้อยละ 5.1) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง 58 ราย (ร้อยละ 37.2) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 14 ราย (ร้อยละ 9.0) ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง 6 ราย (ร้อยละ 3.9)  การศึกษา One group pretest–posttest มีทั้งหมด 79 ราย เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน 8 ราย (ร้อยละ 5.1) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง 53 ราย (ร้อยละ 34.0) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 12 ราย (ร้อยละ 7.7) ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง 6 ราย (ร้อยละ 3.9) พบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงมีคะแนนความรู้เรื่องโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยเมื่อไม่ได้อดอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงมีระดับความดันโลหิต Systolic เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงมีพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในภาพรวมดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.031 และ p<0.001) สรุปผล: ดังนั้น ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ

Article Details

Section
Appendix