ทัศนคติของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อการได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ณ โรงพยาบาลอุดรธานี

Main Article Content

ณัฐพงษ์ ขันซ้าย
ปัณณพร กาบเกษร
พจนันท์ อันภักดี
สามิตร สารโภคา
ภัทรินทร์ กิตติบุญญาคุณ
เปมรินทร์ โพธิสาราช

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง ปัจจุบันยังขาดข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพในด้านทัศนคติของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อการได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ดังนั้นการศึกษานี้จึงใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาทัศนคติของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อการได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รวมถึงอาการข้างเคียง ผลกระทบของอาการข้างเคียง รวมไปถึงศึกษาความต้องการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในด้านการรับบริการจากบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุและวิธีการศึกษา: การศึกษานี้สัมภาษณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 20 คน โดยใช้ชุดคำถามสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้างและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธี Content analysis ผลการศึกษา: ข้อมูลทั่วไปของผู้เข้าร่วมการศึกษามีดังต่อไปนี้ ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดเป็นผู้หญิง ร้อยละ 100โดยมีอายุเฉลี่ย 48.70 ± 5.10 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะที่ IIA ร้อยละ 60 สูตรยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับคือ FAC ร้อยละ 45 ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 50 และผู้ป่วยร้อยละ 80 ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลการศึกษาเชิงคุณภาพคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถนิยามความหมายของยาเคมีบำบัดได้ตามความเข้าใจของผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีทัศนคติที่เป็นกลางต่อการได้รับยาเคมีบำบัด อาการข้างเคียงที่พบมากและมีผลรบกวนชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ สรุปผล: จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่ากระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพสามารถทำให้เข้าใจมุมมอง ทัศนคติ และความต้องการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในเรื่องโรค ยา และอาการข้างเคียงมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบการให้บริการ รวมทั้งการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้

Article Details

Section
Appendix