การพัฒนาตำรับยาฟูโรซีไมด์สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย

Main Article Content

กานต์ ชัยทอง
ณภัทร นวลสกุลกฤป
วิไลวรรณ พละไกร
สุนันท์ชนก น้ำใจดี
บรรลือ สังข์ทอง
กรีพล แม่นวิวัฒนกุล

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ฟูโรซีไมด์เป็นยาขับปัสสาวะกลุ่ม loop diuretics มีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด (40 และ 500 มิลลิกรัม) และยาฉีด (10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ทุกราย  ทางโรงพยาบาลจึงเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายขึ้น แต่ยาเตรียมมีอายุเพียง 1 เดือน ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับยาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนายาเตรียมฟูโรซีไมด์สำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายแบบแยกผงยาและน้ำกระสายยา ที่ผู้ป่วยสามารถผสมได้เองที่บ้าน เพื่อให้ได้ตำรับที่มีความคงตัวดีทั้งทางกายภาพ เคมี และจุลชีววิทยา วัสดุและวิธีการทดลอง: ระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาน้ำกระสายยา และทดสอบความคงตัวเพื่อคัดเลือกน้ำกระสายยา ระยะที่ 2 เป็นการทดสอบความคงตัวภายใต้สภาวะเหมือนกับการใช้งานจริง คือ ทดสอบความคงตัวของน้ำกระสายยาและผงยาที่แยกกันอยู่ และทดสอบความคงตัวของยาเตรียมที่ผสมแล้ว ผลการศึกษา: น้ำกระสายยาที่ประกอบด้วย โซเดียมคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส 0.7 % เป็นสารแขวนตะกอน และใช้ไดโซเดียมฟอสเฟตเป็นบัฟเฟอร์ จะทำให้ได้ยาเตรียมที่มีความคงตัวทางกายภาพดีที่สุด โดยพิจารณาจากค่าการกระจายตัว ความสามารถในการแขวนตะกอน และค่าพีเอชที่เหมาะสม (7.80 ± 0.06) จึงได้นำน้ำกระสายยาตำรับที่ 1 มาทดสอบในระยะที่ 2 เปรียบเทียบกับตำรับโรงพยาบาล โดยเก็บน้ำกระสายยาและผงยาไว้เป็นเวลา 90 วัน จากนั้นผสมเป็นยาเตรียมตั้งทิ้งไว้ 35 วัน พบว่า ยาเตรียมตำรับที่ 1 มีความสามารถในการแขวนตะกอนและการกระจายตัวที่ดีกว่า รวมถึงมีค่าพีเอชที่ใกล้เคียง 8.0  ส่วนปริมาณตัวยาสำคัญของยาเตรียมตำรับที่ 1 และยาเตรียมโรงพยาบาล จากการทดสอบด้วยเครื่อง HPLC ในวันที่ 35 พบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน (89.97 และ 95.50 ตามลำดับ, P=0.27) และทั้ง 2 ตำรับ มีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ต่ำกว่า 200 MPN/mL สรุปผล: น้ำกระสายยาและยาเตรียมตำรับที่พัฒนาขึ้น มีความคงตัวทางกายภาพ เคมี และจุลชีววิทยาที่ดี  สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อทำให้ยาเตรียมที่ผลิตขึ้นมีความคงตัวที่ดีได้

Article Details

Section
Appendix