ผลของสาร (-)-epigallocatechin gallate (EGCG) ต่อการสลายไขมันในเซลล์ไขมันของหนูขาว

Main Article Content

จิราวรรณ ไชยชาติ
พรรณี สอนราษี
วรรณพร พวงพันธ์
อธิกา จารุโชติกมล
ปวิตรา พูลบุตร

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: (-)-Epigallocatechin gallate (EGCG) เป็นสารกลุ่ม catechins หลักที่พบได้มากในชาเขียว สาร EGCG จัดเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย รวมทั้งมีฤทธิ์ต่อการทำงานของเซลล์ไขมัน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ของสาร EGCG ในการควบคุมน้ำหนัก งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร EGCG ต่อการสลายไขมันแบบ basal lipolysis และ isoprenaline (0.1 µM)-induced lipolysis ในเซลล์ไขมันของหนูขาวที่ได้รับอาหารชนิดปกติและอาหารชนิดไขมันสูง วิธีการทดลอง: ทำการศึกษาในหนูขาวพันธุ์ Wistar เพศผู้ จำนวน 16 ตัว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารชนิดปกติ (normal pellet diet, NPD) กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารชนิดไขมันสูง (high fat diet, HFD) โดยแต่ละกลุ่มได้รับอาหารชนิดที่แตกต่างกันเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์  ทำการเตรียมเซลล์ไขมันจากเนื้อเยื่อไขมันบริเวณอัณฑะ ด้วยวิธี collagenase digestion และวัดระดับการสลายไขมันของเซลล์ไขมันจากระดับความเข้มข้นของ free fatty acid (FFA) ใน incubation media เมื่อเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง  ผลการศึกษา: สาร EGCG ที่ความเข้มข้น 1 µM, 5 µM และ 10 µM มีฤทธิ์เพิ่มระดับการสลายไขมันแบบ basal lipolysis ในเซลล์ไขมันของหนูขาวที่ได้รับอาหารชนิดปกติ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) โดยที่ระดับความเข้มข้นของ FFA เท่ากับ 453.67 ± 25.57 µM/mL packed cell volume (PCV)/hr (n = 5), 458.87 ± 26.84 µM/mL PCV/hr (n = 4) และ 443.97 ± 19.75 µM/mL PCV/hr (n = 5)  ตามลำดับ และพบว่าสาร EGCG ที่ความเข้มข้น 5 µM มีฤทธิ์เพิ่มระดับการสลายไขมันแบบ basal lipolysis ในเซลล์ไขมันของหนูขาวที่ได้รับอาหารชนิดไขมันสูง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05; n = 4) โดยมีระดับความเข้มข้นของ FFA เท่ากับ 1,091.75 ± 220.56 µM/mL PCV/hr ในขณะที่สาร EGCG ทั้ง 3 ความเข้มข้นนี้ไม่มีฤทธิ์เพิ่มระดับการสลายไขมันแบบ isoprenaline (0.1 µM)-induced lipolysis ทั้งในเซลล์ไขมันของหนูขาวที่ได้รับอาหารชนิดปกติและอาหารชนิดไขมันสูง  สรุปผล: เซลล์ไขมันที่ได้จากหนูขาวที่ได้รับอาหารชนิดไขมันสูงมีการตอบสนองต่อสาร EGCG ที่แตกต่างออกไปจากเซลล์ไขมันที่ได้จากหนูขาวที่ได้รับอาหารชนิดปกติ ทั้งในสภาวะ basal lipolysis และ isoprenaline (0.1 µM)-induced lipolysis จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุของการตอบสนองที่แตกต่างกันนี้ต่อไป

Article Details

Section
Appendix