ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ของสารสกัดพญายา

Main Article Content

จักรพันธ์ สาแก้ว
จักรพันธ์ ปัญญา
จักรพันธ์ ปลาหนองโปร่ง
สยามพงศ์ ไชยจันทร์
เมธิน ผดุงกิจ
กรีพล แม่นวิวัฒนกุล

Abstract

บัทคัดย่อ


บทนำ: จากการรายงานพบว่าสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวให้ขาว พญายา (Naringi crenulata (Roxb.) Nicloson) เป็นพืชวงศ์ Rutaceae พบได้ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยภูมิปัญญาชาวบ้านใช้เป็นเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส รวมทั้งหาปริมาณสารสำคัญคือ อาร์บูติน (Arbutin) จากพญายา วัสดุและวิธีการทดลอง: นำกิ่งเล็ก กิ่งใหญ่ และลำต้นของพญายามาสกัดด้วย ไดคลอโรมีเธน เอทานอล และน้ำ จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH scarvenging assay และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสโดยวิธี Dopachrome รวมทั้งหาปริมาณอาร์บูติน โดยวิธี TLC-densitometry ผลการศึกษา: พบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลจากลำต้นมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสดีที่สุด มีค่า EC50 ในการต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 8.09±0.82 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทางสถิติพบว่าไม่แตกต่างกันกับสารมาตรฐาน Ascorbic acid และมีค่า IC50 ในการต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสเท่ากับ 5.53±0.40 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทางสถิติพบว่าไม่แตกต่างกันกับสารมาตรฐาน Kojic acid นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลจากลำต้นให้ปริมาณสารอาร์บูตินสูงสุดเท่ากับ 48.80±4.20 มิลลิกรัมอาร์บูตินต่อกรัมของสารสกัด สรุปผล: สารสกัดพญายาด้วยเอทานอลจากลำต้นมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้บำรุงผิวให้ขาวในเชิงอุตสาหกรรม

Article Details

Section
Appendix