การเปรียบเทียบราคายาระหว่างราคาจัดซื้อประเทศไทยและราคาเบิกจ่ายในต่างประเทศ ในช่วงปี 2552-2554

Main Article Content

ภิทรากรณ์ ศรีมงคล
มาศศุภา จุลบุรมย์
อารีวรรณ อินทร์ลา
อรอนงค์ วลีขจรเลิศ

Abstract

บทนำ: การเปรียบเทียบราคายาระหว่างประเทศเป็นที่สนใจสำหรับประเทศที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบหลักในค่ารักษาพยาบาล  ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำการเปรียบเทียบราคายาระหว่างราคาจัดซื้อประเทศไทยกับราคาเบิกจ่ายในต่างประเทศ  วิธีการดำเนินการวิจัย: เปรียบเทียบราคาจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐ ประเทศไทย กับราคาเบิกจ่ายของกองทุนประกันสุขภาพประเทศต่างๆ เฉพาะราคายาต้นแบบ ซึ่งเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาในบัญชียาหลักแห่งชาติปี พ.ศ. 2551 บัญชี ง และ จ ที่ไม่มีมาตรการควบคุมราคายา ข้อมูลราคาจัดซื้อยาในประเทศไทยได้มาจากโรงพยาบาลรัฐ 25 แห่ง สำหรับข้อมูลราคายาเบิกจ่ายค่ายาต่างประเทศ   ได้จากการสืบค้นฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลราคายาได้ 13 ประเทศ คือ อิตาลี มาเลเซีย เยอรมัน ออสเตรีย ฟินแลนด์ ฮังการี ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย นอร์เวย์ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก และ ฝรั่งเศส  รายการยาที่นำมาเปรียบเทียบราคามีทั้งหมด 57 รายการ เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 27 รายการ  และยาในบัญชียาหลักแห่งชาติบัญชี ง และ จ 30 รายการ  เปรียบเทียบราคายาในหน่วย International dollars (I$) ซึ่งเป็นอัตราการแลกเปลี่ยนที่ปรับให้มีความเท่าเทียมกันในอำนาจการซื้อ คำนวณโดยใช้ค่า Purchasing power parity  ผลการศึกษาวิจัย: จากการเปรียบเทียบราคายา 56 รายการ พบว่าส่วนใหญ่ราคายาจัดซื้อประเทศไทยแพงกว่าราคาเบิกจ่ายยาในต่างประเทศ โดยมี 33 รายการซึ่งประเทศไทยแพงกว่าต่างประเทศมากกว่าสามเท่า โดยเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 17 รายการ และเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 16 รายการ ทั้งนี้ประเทศที่มีราคายาส่วนใหญ่ถูกที่สุดคือนอร์เวย์ และมียาเพียง 1 รายการ คือ Tenofovir disoproxil fumarate ซึ่งประเทศไทยมีราคาจัดซื้อถูกกว่าราคาเบิกจ่ายยาในต่างประเทศ สรุปผลการวิจัย: ประเทศไทยมีราคาจัดซื้อยาแพงกว่าราคาเบิกจ่ายยาในต่างประเทศ ซึ่งควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายควบคุมราคายา เนื่องจากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อราคายา

Article Details

Section
Abstracts