สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้สูงอายุในบ้านมะกอก อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

Main Article Content

กุสุมา ซุ่นกลาง
ปกรณ์ วรสินธุ์
ปรัชญา เขตเจริญ
ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง
ปาริโมก เกิดจันทึก

Abstract

บทนำ: ผู้สูงอายุบ้านมะกอกมีจำนวนมากขึ้น มีโรคประจำตัวเรื้อรังทำให้ต้องใช้ยาเป็นประจำและมักใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมด้วย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรกิริยาระหว่างกัน วัตถุประสงค์การศึกษานี้เพื่อหาสถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้สูงอายุบ้านมะกอก จังหวัดมหาสารคาม วิธีดำเนินการศึกษา: การศึกษาแบบภาคตัดขวาง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ผู้มีอายุ > 60 ปีและมีโรคประจำตัว จำนวน 63 คน ระหว่าง 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2555 รายงานสถานการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยใช้สถิติไคสแควร์ ผลการศึกษาวิจัย: ผู้สูงอายุร้อยละ 79.4 เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 68.49 ± 7.73 ปี ร้อยละ 93.7 มีผู้ดูแล ร้อยละ 81.0 มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีโรคประจำตัว > 2 ชนิด ร้อยละ 58.7 โรคเบาหวานพบมากที่สุด (ร้อยละ 73.0) ส่วนใหญ่มีการใช้ยา > 5 รายการ (ร้อยละ 47.6) ผู้สูงอายุร้อยละ 25.4 มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับยา โดยแหล่งข้อมูลหลักคือ เพื่อนบ้าน/ญาติ (ร้อยละ 23.8) และโฆษณาวิทยุ (ร้อยละ 11.1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้มีทั้งหมด 10 ชนิด ผู้สูงอายุที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มักใช้ > 1 ชนิดต่อคน ผลิตภัณฑ์ใช้มากที่สุดคือ น้ำมันรำข้าว (ร้อยละ 50.0) และน้ำมันปลา (ร้อยละ 25.0) คู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาการกับยาที่มีโอกาสเกิดอันตรกิริยาคือ น้ำมันปลากับยาแอสไพริน พบในผู้สูงอายุ 4 คน (ร้อยละ 6.3) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ข้อมูลจากเพื่อนบ้าน/ญาติและโฆษณาวิทยุมีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้สูงอายุ (p=0.028, p=0.001และ p=0.001 ตามลำดับ) สรุปผลการวิจัย: 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุบ้านมะกอกมีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้แก่ สิทธิการรักษาและแหล่งข้อมูลผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยังพบโอกาสการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย สถานการณ์และปัจจัยจากการศึกษานี้ควรนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุบ้านมะกอกต่อไป

Article Details

Section
Abstracts