ทัศนคติและพฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการจัดการอาการปวดเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็ง

Main Article Content

ภัทรินทร์ กิตติบุญญาคุณ
นริศรา บุตรโชติ
ภัทราพร อรรคฮาตสี
รัตติยา แดนดงยิ่ง
ราตรี แมนไธสง
จันทร์เพชร ราชดา

Abstract

บทนำ: อาการปวดเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม อย่างไรก็ตามแนวคิดด้านการรักษาและการจัดการอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็งของบุคลากรทางการแพทย์มีข้อมูลค่อนข้างจำกัดจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการจัดการอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็ง ทัศนคติต่อการการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมและปัญหาที่พบ วิธีการดำเนินการวิจัย: การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมการวิจัยประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล จำนวนทั้งสิ้น 27 คน จากโรงพยาบาลจังหวัด 2 แห่ง และ ศูนย์บริการทางการแพทย์ 1 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธี content analysis ผลการศึกษาวิจัย: พบ 4 ประเด็นหลักสำคัญได้แก่ 1) ทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการจัดการอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็งในแต่ละวิชาชีพจะแตกต่างกันไปตามบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบ เภสัชกรที่ทำงานด้านบริบาลเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วยจะเข้าใจผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นอย่างดี และพยาบาลบนหอผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถประเมินระดับอาการปวดที่แท้จริงของผู้ป่วยได้ 2) พฤติกรรมต่อแนวทางการจัดการอาการปวดเรื้อรัง พบว่าแพทย์ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่มีวิธีสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมกับลักษณะอาการและผลกระทบจากการปวดของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนพยาบาลมีการประเมินและดูแลผู้ป่วยครบทุกมิติ (กาย ใจและสังคม)  3) สำหรับด้านการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม มีเพียงผู้เข้าร่วมการศึกษาบางรายที่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง และปัจจุบันยังไม่มีการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ แต่มีเพียงการดูแลร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพ และ 4) ปัญหาในจัดการอาการปวดเรื้อรังส่วนใหญ่พบปัญหาความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยภาระงานที่มากของบุคลากรทางการแพทย์ขาดผู้นำในการจัดตั้ง สรุปผลการวิจัย: การศึกษานี้ทำให้เข้าใจมุมมองของแต่ละวิชาชีพและปัญหาที่พบในการจัดการอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากมะเร็งสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดอบรมให้แก่บุคลากรและพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แบบองค์รวมในโรงพยาบาลต่อไป

Article Details

Section
Abstracts