ผลการคัดกรองและการให้คำแนะนำในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ณ ร้านยามหาวิทยาลัยและ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคี

Main Article Content

นภาลัย ชัยบิน
สุวัฒนา พาจะโปะ
กนกวรรณ การบรรจง
ปาริโมก เกิดจันทึก

Abstract

บทนำ: โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสี่ของประเทศไทย ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสามารถชะลอการเป็นโรคเบาหวานและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองและติดตามผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และประเมินผลการให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีการศึกษาวิจัย: การศึกษานี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง โดยกลุ่มทดลองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มารับการคัดกรองที่ร้านยามหาวิทยาลัย สาขา 1 และ 3  กลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มเสี่ยงรายเก่าจากศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคี แล้วทำการคัดกรองซ้ำโดยผู้วิจัย ในระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2555 – 7 กุมภาพันธ์ 2556 จากนั้นกลุ่มทดลองจะได้รับความรู้เรื่องโรคเบาหวาน คำแนะนำในการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารจากผู้วิจัย ส่วนกลุ่มควบคุมจะไม่ได้รับความรู้และคำแนะนำ จากนั้นติดตามกลุ่มเสี่ยงนาน 2 เดือน แล้วทำการเปรียบเทียบผลการให้คำแนะนำภายในแต่ละกลุ่มโดยใช้สถิติ Wilcoxon signed rank test และ Paired t-test เปรียบเทียบผลการให้คำแนะนำระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ Mann-whitney U test และ Independent t- test  ผลการศึกษาวิจัย: ผู้เข้ารับการคัดกรองทั้งหมด 107 ราย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 62 ราย (ร้อยละ 57.9) ยินยอมเข้าร่วมการศึกษา 28 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 14 ราย กลุ่มควบคุม 14 ราย ผลการศึกษาพบว่าหลังได้รับคำแนะนำกลุ่มทดลองมีการออกกำลังกาย เพิ่มขึ้น รับประทานอาหารหวาน อาหารมัน น้ำหนัก และดัชนีมวลกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนเส้นรอบเอว ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง (p>0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน (p>0.05) โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย 109.51 ± 9.69 และ 111.96 ± 11.24 ตามลำดับ และผลการประเมินความพึงพอใจในกลุ่มทดลองหลังสิ้นสุดการศึกษาพบว่ามีความพึงพอใจในการรับบริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปผลการวิจัย: จากผลการศึกษาจะได้เห็นว่าการให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้กลุ่มทดลองก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีความแตกต่างกันเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

Article Details

Section
Abstracts