การศึกษาพฤติกรรมและความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคจิตเวช โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Main Article Content

ดุษฎาภรณ์ วิสาพรม
ศิวะรัญญา พละศักดิ์
สลินนา ศรีชาลี
น้องเล็ก คุณวราดิศัย

Abstract

บทนำ: ผู้ป่วยโรคจิตเวชมีอัตราการสูบบุหรี่ที่มากกว่าคนปกติ การสูบบุหรี่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและการรักษา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความตั้งใจเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคจิตเวช โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี  วิธีการดำเนินการวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง ให้คำปรึกษาและแนะนำโดยใช้หลักการ 5A เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคจิตเวชที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันและมารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ.2556 จำนวน 50 ราย ทำการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 3 ครั้ง คือ หลังให้คำแนะนำ 1 สัปดาห์, 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์  ผลการศึกษาวิจัย: กลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 12.4 ± 6.1 มวน เป็นเวลาเฉลี่ย 20.3 ± 12.8 ปี ผู้ป่วยร้อยละ 62.0 ติดนิโคตินในระดับต่ำ ช่วงเวลาที่ชอบสูบบุหรี่คือเวลาตื่นเช้า คิดเป็นร้อยละ 98.0 นอกจากนี้ผู้ป่วยร้อยละ 32.0 เคยเลิกสูบบุหรี่มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยร้อยละ 86.1 ใช้วิธีหักดิบ สาเหตุที่ทำให้กลับมาสูบซ้ำคือ เกิดอาการอยากสูบเอง ร้อยละ 33.3 รองลงมาคือ เห็นเพื่อนสูบ ร้อยละ 27.8 ภายหลังการติดตาม พบว่าที่สัปดาห์ที่ 1 4 และ 8 ผู้ป่วยมีระดับพฤติกรรมความพร้อมในการเลิกบุหรี่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 7 ราย (ร้อยละ 20.6), 9 ราย (ร้อยละ 28.1) และ 12 ราย (ร้อยละ 40.0) ตามลำดับ มีกลุ่มตัวอย่าง 1 ราย อยู่ในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติได้หลังจากการติดตาม 8 สัปดาห์ นอกจากนี้ปริมาณการสูบบุหรี่หลังการให้คำแนะนำลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05) ในด้านความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่พบว่าหลังการให้คำแนะนำผู้ป่วยมีคะแนนดีกว่าก่อนให้คำแนะนำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ความรู้จาก 8.4 ± 2.2 เป็น 9.4 ± 2.1, p <0.05 และทัศนคติจาก 30.0 ± 3.6 เป็น 32.8 ± 3.0, p<0.05)  สรุปผลวิจัย: การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ด้วยหลักการ 5A ในผู้ป่วยโรคจิตเวชอาจใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้

Article Details

Section
Abstracts