อัตราการควบคุมน้ำตาลและการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

ธัญสร ศรีสุนา
เกษมศรี สีลม
ฐานิดา นวกุล
มานิตย์ แซ่เตียว
พีรวัฒน์ จินาทองไทย

Abstract

บทนำ: ในปี พ.ศ 2553 พบความชุกของผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย 607,828 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ร.พ.ม่วงสามสิบยังขาดข้อมูลอัตราการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย ดังนั้นจึงศึกษาอัตราการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเปรียบเทียบตามแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2554 และการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา และไต ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้ารับการรักษาในคลินิกผู้ป่วยนอก ร.พ.ม่วงสามสิบ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี วิธีการดำเนินการวิจัย: การศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา โดยเก็บข้อมูลแบบภาคตัดขวาง  ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อายุ 20 ปีขึ้นไป ที่เข้ารับการรักษาในคลินิกผู้ป่วยนอก ร.พ.ม่วงสามสิบ ในช่วงเดือนมกราคม ถึง มิถุนายน พ.ศ.2556 โดยข้อมูลที่ศึกษา ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ระดับ FPG A1C  TC  TG  LDL-C HDL-C ระดับความดันโลหิต และผลการตรวจโรคแทรกซ้อนที่ ตา ไต ซึ่งเก็บจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ของ ร.พ.และเวชระเบียนผู้ป่วย รายงานผลในรูปสถิติเชิงพรรณนาด้วยความถี่และร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย: มีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เข้าร่วมการศึกษารวม 468 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 39.53 เพศหญิงร้อยละ 60.47ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ ร.พ.เฉลี่ย 6.41 ครั้ง/ราย มีอายุเฉลี่ย 61 ± 12.15 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 55.91 ± 11.15 กก. ส่วนสูงเฉลี่ย 156 ± 16.32 ซม. ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 23.04 ± 5.98 กก./ม2 ระยะเวลาที่ได้รับการติดตามการรักษาเฉลี่ย 8 ± 2.10 ปี มีค่าเฉลี่ย Fasting blood sugar (FBS) 168 ± 81.73 มก./ดล. ค่าเฉลี่ยระดับ Hemoglobin A1C  9.3% ± 2.71  มีผลตรวจ FBS อยู่ในช่วง 70-130 มก./ดล. จำนวน 143 ราย จาก 388 ราย (ร้อยละ 36.86) และมีผลตรวจ Hemoglobin A1C ต่ำกว่าร้อยละ 7 จำนวน 27 รายจาก 138 ราย (ร้อยละ 19.57) ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งหมด 221 ราย โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ตา 26 ราย (ร้อยละ 31.71) ภาวะแทรกซ้อนที่ไต 209 ราย (ร้อยละ51.60) และมีภาวะแทรกซ้อนที่ตาและไต 14 ราย (ร้อยละ 6.33) สรุปผลการวิจัย: มีผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 50 ที่มีผลตรวจ FBS อยู่ในช่วง70-130 มก./ดล.และผลตรวจ Hemoglobin A1C ต่ำกว่าร้อยละ 7 แสดงว่าผลการรักษาไม่ดีเท่าทีควร อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน จากการศึกษานี้พบว่า โรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่ที่พบ คือ โรคแทรกซ้อนที่ไต ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของ รพ.ม่วงสามสิบต่อไป

Article Details

Section
Abstracts