ราคาจัดซื้อยา ในช่วงปี พ.ศ. 2552-2555:กรณีศึกษาโรงพยาบาล 26 แห่ง

Main Article Content

ภณิดา พาภักดี
ภัทราพร แสงสว่าง
กมลพรรณ นุชิต
อรอนงค์ วลีขจรเลิศ
ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช

Abstract

บทนำ: ในภาพรวมของประเทศไทย ค่าใช้จ่ายด้านยาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของค่าใช้จ่ายโดยรวมด้านสุขภาพมีแนวโน้มของสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาจัดซื้อยา ในช่วงปี พ.ศ. 2552-2555 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2555) วิธีการดำเนินการวิจัย: โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 2 ปีย้อนหลังจากบริษัท IMS Institute for Healthcare Informatics (IMS) และโรงพยาบาล 26 แห่ง ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์สังกัดศึกษาธิการ โดยติดตามราคาจัดซื้อยาที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยาสูงจำนวน 10 กลุ่ม คือ Oncology, Antidiabetics, Respiratory, Lipid regulators, Angiotensin inhibitors, Autoimmune, HIV antivirals, Antipsychotics, Platelet aggregation inhibitors และ Anti-ulcerants ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลราคายาที่รวมส่วนลด-ส่วนแถมแล้ว เป็นข้อมูลรายไตรมาส โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาได้แก่ ร้อยละค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อหาความสัมพันธ์ของราคายาที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละกลุ่มยาและแสดงถึงช่องว่างความแตกต่างของราคาจัดซื้อยาระหว่างโรงพยาบาล รายการยาที่ติดตามรวมทั้งหมด 276 รายการ เป็นยาต้นแบบ กับ ยาผลิตภายในประเทศ เท่ากับ 134 และ 142 รายการ ตามลำดับ ผลการศึกษาวิจัย: ผลการวิจัยพบว่า มีจำนวนรายการยาที่ราคาเพิ่มขึ้น 16 รายการ, ลดลง 117 รายการ และไม่เปลี่ยนแปลง 143 รายการ ยาต้นแบบที่มีราคาลดลงมากกว่าร้อยละ 20 คือยาในกลุ่ม respiratory inhaler หลายรายการ ส่วนยาผลิตภายในประเทศ กลุ่มยาเป้าหมายทุกกลุ่มมีราคาลดลง ยกเว้นกลุ่ม Antidiabetics และจากการเปรียบเทียบราคาจัดซื้อยาเฉลี่ยและร้อยละผลต่างระหว่างยาต้นแบบ กับ ยาผลิตภายในประเทศ ที่มีชื่อยาสามัญ, รูปแบบยา และขนาดยาเหมือนกัน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ทั้งหมด 14 รายการ พบว่า มีร้อยละผลต่างตั้งแต่ร้อยละ 4.68-94.06 โดยยาที่มีความแตกต่างของราคาจัดซื้อยาระหว่างยาต้นแบบ กับ ยาผลิตภายในประเทศสูงมากกว่าร้อยละ 50 คือ ยา Pioglitazone, Montelukast, Atorvastatin, Lamivudine, Zanamivir, Risperidone และ Clopidogrel  สรุปผลการวิจัย: ผลที่ได้จากการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้ประกอบในการจัดซื้อยาและการหามาตรการเพื่อลดช่องว่างความแตกต่างของราคาจัดซื้อยาสำหรับความแตกต่างของราคายาระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งส่วนมากโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีราคาจัดซื้อยาที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก

Article Details

Section
Abstracts