ผลของสารสกัดพิกัดตรีผลาต่อการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase

Main Article Content

ศุภวรรณ จันทบูรณ์
ทิพาพรรณ ภูผิวคำ
พชรพันธุ์ พันธ์งาม
วิระพล ภิมาลย์
ประสบอร รินทอง

Abstract

บทนำ: พิกัดตรีผลาประกอบด้วยส่วนผลของสมอไทย (Terminalia chebula, Combretaceae) สมอพิเภก (T. belerica, Combretaceae) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica, Euphorbiaceae) ในอัตราส่วนเสมอภาค มีสรรพคุณปรับสมดุลธาตุ ช่วยระบายและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดตรีผลามีฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือดของหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีระดับไขมันในเลือดสูง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารสกัดตรีผลาและสารสกัดของสมุนไพรแต่ละชนิดที่เป็นส่วนประกอบในพิกัดต่อการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งทำหน้าที่ในการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล วิธีการดำเนินการวิจัย: เตรียมสารสกัด 4 ชนิด ได้แก่ สารสกัดตรีผลา สารสกัดสมอไทย สารสกัดสมอพิเภกและสารสกัดมะขามป้อม โดยการต้มสมุนไพรกับน้ำให้เดือด กรองและทำให้เป็นผงแห้งด้วยเทคนิคการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เตรียมสารสกัดให้อยู่ในรูปสารละลายที่มีความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร นำไปทดสอบผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase โดยใช้ชุดทดสอบ HMG-CoA reductase assay kit ซึ่งมี HMG-CoA เป็นสารตั้งต้น และการลดลงของ NADPH ประเมินโดยการวัดการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 340 นาโนเมตร ทุก 20 วินาที เป็นเวลา 9 นาที และใช้ pravastatin เป็นสารควบคุมบวก ผลการศึกษาวิจัย: สารสกัดตรีผลา สารสกัดสมอไทย สารสกัดสมอพิเภกและสารสกัดมะขามป้อมมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase คิดเป็นร้อยละ 3.21, 16.57, 24.85 และ 35.52 ตามลำดับ pravastatin มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์คิดเป็นร้อยละ 37.98 จากผลการศึกษาพบว่าสารสกัดตรีผลาไม่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ส่วนสารสกัดมะขามป้อมสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ใกล้เคียงกับ pravastatin สรุปผลการวิจัย: ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือดของหนูทดลองของสารสกัดตรีผลา อาจเป็นผลจากมะขามป้อมซึ่งเป็นส่วนประกอบในพิกัด หรือเป็นผลจากกลไกยับยั้งการดูดซึมไขมันหรือกลไกอื่นที่นอกเหนือจากการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบในหลอดทดลองอาจเหมือนหรือแตกต่างจากผลที่เกิดขึ้นในร่างกาย และฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อาจขึ้นกับความเข้มข้นของสารสกัดที่ใช้ทดสอบ

Article Details

Section
Abstracts