การศึกษาชนิดและวิธีการเตรียมสารช่วยยึดเกาะประเภทแป้งในการเตรียมยาเม็ด

Main Article Content

นิชารัตน์ สิงห์จันทร์
พิมพรรณ พวกพระลับ
ภัททิยา เล็บสิงห์
ชลลัดดา พิชญาจิตติพงษ์

Abstract

บทนำ: การเตรียมแป้งเป็นสารช่วยยึดเกาะในตำรับยาเม็ดมี 2 วิธีคือสารละลายยึดเกาะและเติมในรูปผงแห้ง ซึ่งการเตรียมเป็นสารละลายยึดเกาะมีขั้นตอนการเตรียมที่ใช้เวลานาน ดังนั้นหากเตรียมแป้งในรูปผงแห้งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการผลิตยาเม็ดได้ วิธีการดำเนินการวิจัย: ส่วนแรกเป็นการศึกษาเพื่อหาวิธีการเตรียมสารยึดเกาะที่เหมาะสมในการเตรียมยาเม็ดพาราเซตามอลด้วยวิธีแกรนูลเปียก โดยนำแป้งข้าวโพดมาเตรียมเป็นสารละลายยึดเกาะเทียบกับการเติมในรูปผงแห้งที่ตามด้วยการพ่นน้ำที่อุณหภูมิต่างๆ ส่วนที่สองเป็นการศึกษาหาชนิดของแป้งที่เหมาะสมในการเป็นสารยึดเกาะในตำรับยาเม็ด โดยทดลองกับแป้งข้าวโพด แป้งข้าวเหนียว แป้งมันสำปะหลัง และแป้งมันฝรั่ง ยาเม็ดที่ได้นำมาหาค่าการเบี่ยงเบนของน้ำหนัก ความแข็ง ความหนา ความกร่อน การแตกตัวและการละลายของยาเม็ด ผลการศึกษาวิจัย: พบว่าแป้งข้าวโพดที่เตรียมด้วยวิธีสารละลายยึดเกาะให้ยาเม็ดที่มีลักษณะทางกายภาพที่ดีกว่าเติมในรูปผงแห้ง แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมในรูปแบบผงแห้งซึ่งพ่นน้ำที่อุณหภูมิ 100°C (เกิดเจลาติไนเซชัน) ก็สามารถเตรียมยาเม็ดที่มีลักษณะกายภาพที่ดีได้เช่นกัน สำหรับการทดลองชนิดของแป้ง พบว่ายาเม็ดผ่านการประเมินลักษณะทางกายภาพทุกตำรับ โดยแป้งข้าวเหนียวใช้เวลาในการแตกตัวนานกว่าตำรับอื่น สรุปผลการวิจัย: วิธีการเตรียมสารช่วยยึดเกาะจากแป้งข้าวโพดในรูปสารละลายยึดเกาะยังคงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ส่วนการเตรียมในรูปผงแห้งแล้วพ่นน้ำที่อุณหภูมิ 100°C สามารถใช้เป็นอีกทางเลือกได้และพบว่าแป้งข้าวเหนียวแสดงความเป็นสารยึดเกาะที่ดีกว่าแป้งข้าวโพด แป้งมันสำปะหลังและแป้งมันฝรั่ง


 

Article Details

Section
Abstracts