การพัฒนาครีมจากน้ำมันขิงสำหรับบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่ทำงานออฟฟิศ

Main Article Content

จารุวรรณ เหลาสนิท
วราภรณ์ มีเทียน
ศราพงค์ อินแปลง
ปิลันธนา เลิศสถิตธนกร
ภัทรินทร์ กิตติบุญญาคุณ
ศิรินาถ ตงศิริ

Abstract

บทนำ: โรคปวดกล้ามเนื้อในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ เกิดจากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานานหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและไหล่ มีรายงานว่าน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าขิงมีฤทธิ์ระงับการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ งานวิจัยจึงต้องการพัฒนาตำรับครีมน้ำมันขิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและไหล่ของผู้ทำงานในออฟฟิศและเพิ่มความพึงพอใจต่อกลิ่นในตำรับครีมน้ำมันขิง วิธีการดำเนินการวิจัย: ทำการพัฒนาครีมน้ำมันขิง โดยใช้น้ำมันหอมระเหยขิง 2%(w/w) แต่งกลิ่นสังเคราะห์มะลิ ส้มและกุหลาบ คัดเลือกครีมน้ำมันขิงเพียงตำรับเดียวที่มีความคงตัวทางกายภาพ ไม่เกิดการระคายเคืองผิวหนัง และอาสาสมัครมีความพึงพอใจต่อกลิ่นของตำรับสูงสุด นำตำรับที่เลือกมาศึกษาประสิทธิภาพบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในผู้ที่ทำงานออฟฟิศโดยใช้เครื่องมือ Numerical rating scale จะแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 18 คนคือกลุ่มใช้ครีมพื้นแต่งกลิ่นสังเคราะห์และกลุ่มใช้ครีมน้ำมันขิงแต่งกลิ่นสังเคราะห์ โดยได้รับครีมทาบริเวณที่ปวดวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน ติดตามผลการบรรเทาปวดกล้ามเนื้อก่อนและหลังใช้ครีมผลการศึกษาวิจัย: จากการคัดเลือกจะได้ครีมน้ำมันขิงแต่งกลิ่นสังเคราะห์มะลิ เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพบรรเทาปวด พบว่าหลังจากใช้ครีมนาน 7 วัน ทั้งตำรับครีมพื้นและตำรับครีมน้ำมันขิงมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดระหว่างกลุ่มที่ใช้ครีมพื้นกับครีมน้ำมันขิง พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดไม่แตกต่างกัน (P<0.05) แต่การแจกแจงการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการใช้ครีม พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ครีมน้ำมันขิงแล้วมีอาการดีขึ้น (61.11%) มากกว่าการใช้ครีมพื้น (44.44%) นอกจากนี้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อตำรับครีมน้ำมันขิง สรุปผลการวิจัย: ตำรับครีมน้ำมันขิงสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่ทำงานออฟฟิศได้โดยมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากครีมพื้นแต่จำนวนผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อครีมน้ำมันขิงมีมากกว่าครีมพื้น


 


 

Article Details

Section
Abstracts